รื้อซอฟต์โลน 5 แสนล้าน คลังอัดแพ็กเกจเศรษฐกิจรอบใหม่

เงิน

ชง “ปรีดี” ขุนคลังคนใหม่ 3 มาตรการรวดแก้วิกฤตเร่งด่วน อัดแพ็กเกจเศรษฐกิจเฟสใหม่ รับมือมาตรการพักหนี้สิ้นสุดปลายเดือน ต.ค.นี้ รื้อเกณฑ์ซอฟต์โลน ปลดล็อกปล่อยกู้ 5 แสนล้าน เสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ-เอสเอ็มอี จ่อพ่วงเงื่อนไขรักษาการจ้างงาน สกัดคนตกงานเพิ่ม “วิษณุ” ดึงกฤษฎีกาชี้ช่อง ส.อ.ท.-สภาหอการค้าฯ ลุ้น ครม.ไฟเขียว ด้านเอกชนจี้ออกมาตรการกระตุ้น ให้ธุรกิจมีรายได้จ่ายหนี้

หลังโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างลง และเพิ่มเติมบางตำแหน่ง นอกจากสุญญากาศระหว่างรอการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสุดลงแล้ว รายชื่อรัฐมนตรี รวมทั้งตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามโผ ทำให้ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ได้รับการขานรับจากตัวแทนภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การสปีดสร้างผลงาน และเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจ นักลงทุนคาดหวัง และต้องการให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ดำเนินการเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการหลากหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และไวรัสโควิด-19อย่างการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจที่ยังติดขัดล่าช้า

รอ รมว.คลังแก้ปมซอฟต์โลน

วันที่ 7 สิงหาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ครม.ได้หยิบยกปัญหากรณีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ภายใต้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดขอโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท (ซอฟต์โลน) มาหารือกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร

“ขณะนี้เรื่องยังไม่กลับมายังคณะรัฐมนตรี ยังไม่มาถึงผม ต้องรอ รมว.คลังคนใหม่ เซ็นเรื่องเข้ามา ส่วนจะต้องแก้ไขระเบียบกฎหมายอย่างไร ต้องแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลนบางมาตราหรือไม่นั้น ต้องรอผลการพิจารณา”

ชงมาตรการ ศก.-พักหนี้

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าสศค.จะหารือร่วมกับ นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง รายงานการดำเนินงานของส่วนราชการ กรมต่าง ๆ และควรมีเรื่องอะไรบ้างที่จะต้องทำในมุมของกรม พร้อมกันนี้ สศค.จะเสนอมาตรการเพื่อออกมาดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ให้ รมว.คลังพิจารณาด้วย ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในส่วนของราชการ และสิ่งที่ รมว.คลังต้องการจะขับเคลื่อน

มาตรการที่ สศค.จะเสนอจะเป็นแนวทางรับมือเศรษฐกิจเร่งด่วนช่วงระยะเวลาจากนี้ไป เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน เช่น การดูแลและประคับประคองธุรกิจใหประกอบกิจการต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการคงจ้างงานในระบบ รองรับการว่างงานที่อาจเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดเดือน ต.ค. 63 ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ สศค.ต้องเตรียมรับมือ ทั้งในมุมของสถาบันการเงินและประชาชน หรือผู้ประกอบการที่ได้รับการพักหนี้

แก้โจทย์ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน

นอกจากนี้ยังมีโจทย์กรณีซอฟต์โลนที่ต้องเข้าไปดูแล ไม่เฉพาะซอฟต์โลนวงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่ธนาคารออมสินเตรียมจะออกมาเพื่อดูแลผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว เนื่องจากซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ยังมีเงินเหลืออยู่ 4 แสนล้านบาท ผู้ประกอบการยังเข้าถึงยาก เป็นโจทย์ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึง

“โจทย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ สศค.เตรียมไว้เสนอ รมว.คลัง แต่ก็ต้องรอดูสิ่งที่ รมว.คลัง ต้องการจะขับเคลื่อน ต้องมาดูว่ามีความเห็นเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร และจะเริ่มทำเมื่อไหร่”

ชงขุนคลังคนใหม่รื้อเกณฑ์

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังทราบปัญหาข้อติดขัดในการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน และได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ รมว.คลังคนใหม่ พิจารณาหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แนวทางแก้ไขปัญหาจะแก้ไขหลักเกณฑ์บางข้อที่ยังเป็นอุปสรรค

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ได้เสนอให้รองนายกฯวิษณุ รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยพิจารณาหาแนวทางด้วย ว่าจำเป็นจะต้องแก้ไข พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือไม่

แก้ปัญหาตกงาน-สกัดหนี้เสีย

ปัจจุบันซอฟต์โลนภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ที่ ธปท.กำหนดวงเงินไว้ 5 แสนล้านบาท ล่าสุดเพิ่งใช้วงเงินไปแค่ราว 1.1 แสนล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากสถาบันการเงินต่างกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านเครดิต จึงไม่กล้านำซอฟต์โลนดังกล่าวไปปล่อยกู้ ที่สำคัญ ต้องการให้ดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามารับประกันความเสี่ยง

“ซอฟต์โลนจะต้องมีการแก้ไขหลักเกณฑ์เงื่อนไขแน่นอน เป้าหมายเพื่อให้คนเข้าถึงมากขึ้น ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับ รมว.คลังคนใหม่ไว้แล้ว เพราะเรื่องนี้ถือว่าจำเป็นเร่งด่วน น่าจะเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ รมว.คลังคนใหม่จะเข้ามาดำเนินการ รวมถึงเรื่องการดูแลแก้ปัญหาคนตกงาน ที่เสนอให้ใช้วงเงินซอฟต์โลนช่วยรักษาการจ้างงานด้วย นอกจากนี้จะหามาตรการรับมือการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้หนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้นสูงมากจนเกินไป หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้แล้ว”

โยกซอฟต์โลน 4 แสน ล.จ้างงาน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะเดียวกันมีข้อเสนอให้รัฐบาลปรับวงเงินซอฟต์โลนที่เหลืออยู่เกือบ 4 แสนล้านบาท มาช่วยรองรับการรักษาการจ้างงาน ควบคู่กันด้วย โดยให้ ธปท.ปล่อยซอฟต์โลนให้แบงก์ จากนั้นให้แบงก์นำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้ภาคธุรกิจ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต้องรักษาการจ้างงานไว้ไม่ต่ำกว่า 80% เหมือนกับเป็นการปล่อยกู้ให้ไปจ่ายเงินเดือนพนักงานเพื่อจะได้ไม่เลิกจ้าง

“โปรแกรมนี้จะตอบโจทย์ทั้งการรักษาการจ้างงาน และรักษาความมั่นคงของสถาบันการเงินด้วย โดยรายรับของลูกจ้างจะถูกตัดหักหนี้ก่อนเข้าบัญชีเงินเดือนชำระหนี้ของลูกจ้างรายนั้น ๆ เป็นการหักชำระหนี้ด้วยเพย์โรล เรียกว่าหักหน้าซองเหลือเท่าไหร่ค่อยเข้าบัญชีเงินเดือน ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นนายจ้าง ก็ได้เงินกู้มาเลี้ยงกิจการ โดยเงินกู้ดังกล่าวก็จะมี บสย.ค้ำประกัน ขณะที่แบงก์ก็จะไม่เสี่ยงมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น โดยโปรแกรมนี้จะมีเวลา 2 ปี”

จี้รัฐจัดแพ็กเกจกระตุ้นพ่วง

ด้านแหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมกันระหว่าง ธปท. ธนาคารพาณิชย์ และภาคเอกชนถึงการปรับเกณฑ์ซอฟต์โลน โดยหารือกันถึงแนวทางต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นให้มีการปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันปล่อยได้แค่ราว 1 แสนล้านบาท สำหรับแนวทางส่วนหนึ่งอาจจะมีการแก้เกณฑ์ให้นำ บสย.เข้ามาร่วมค้ำประกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ตามระยะเวลา 2 ปี

ที่ผ่านมา ในที่ประชุม ส.อ.ท.เคยเสนอวิธีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการภาคต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยใช้วิธีการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจและให้ผู้ประกอบการช่วยรักษาระดับการจ้างงานไว้

“เรื่องนี้มีการพูดคุยกันหลายรอบแล้ว ภาคเอกชนอยากให้ทำ แต่ ธปท.กังวลว่าจะคุมอย่างไร เชื่อว่าหลังได้ รมว.คลังคนใหม่ จะหารือกันอีกครั้ง แต่ต้องมีแพ็กเกจอย่างอื่นมาช่วยกระตุ้นด้วย ให้ธุรกิจเกิดรายได้ แค่ปล่อยสินเชื่ออย่างเดียวคงไม่ได้ผล เพราะเอาสินเชื่อไป ก็ไม่มีรายได้มาจ่ายหนี้”

ส.อ.ท.กระทุ้งแก้กฎ


ก่อนหน้านี้ นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานคณะอนุกรรมการการเงินและภาษีระบุว่า การเข้าถึงซอฟต์โลนเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง ที่ผ่านมาได้นำประเด็นปัญหาเรื่องอุปสรรคซอฟต์โลนเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งฝ่ายสมาคมธนาคารไทยไม่ได้ติดปัญหาว่าจะมีรายได้ลดลงจากการปล่อยสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% แต่ติดขัดในประเด็น “เรื่องหลักประกัน” กล่าวคือปัจจุบัน ธปท.ให้หลักประกันไว้แค่เพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ธปท.จะเป็นผู้รับความเสี่ยงไว้ให้ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันธนาคารคาดว่าการชำระเงินกู้อาจจะล่าช้ากว่ากำหนด 2 ปี จึงเห็นพ้องกันว่าควรให้ บสย.ช่วยค้ำประกันต่อไปอีก 3 หรือ 5 ปี เป็น 5-7 ปี ให้เอกชนสามารถฟื้นตัวสามารถกลับมาชำระหนี้ได้