สินเชื่อเกษตร ธ.ก.ส. วูบ 50% ปรับลดเป้า เหลือ 3.7 แสนล้านบาท

สินเชื่อเกษตร ธ.ก.ส. วูบ 50% ปรับลดเป้า เหลือ 3.7 แสนล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ  ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ปรับลดเป้าการปล่อยสินเชื่อของปีบัญชี 2563 เหลือ 3.7 แสนล้านบาท จากเดิมจะต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้ 6 แสนล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ธ.ก.ส. อยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ ลูกค้าไม่ได้ส่งหนี้เก่า จึงปรับลดยอดการปล่อยสินเชื่อลงมา อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายล่าสุด เนื่องจาก ณ สิ้นเดือนก.ค. ธนาคารได้ออกสินเชื่อเข้าไปช่วยผู้ตกงาน วงเงินรวม 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 50% แล้ว

สำหรับสินเชื่อใหม่นั้น ประกอบด้วย สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 1 แสนล้านบาท, สินเชื่อ New Gen Hug (ฮัก) บ้านเกิด วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท, และสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 4.03% ต่ำกว่าปีบัญชี 2562 ที่อยู่ระดับ 4.3% เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงของการพักชำระหนี้ ซึ่งหากสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวแล้ว ธ.ก.ส.ก็มีนโยบายเข้าไปดูแลลูกหนี้ ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มของเอสเอ็มอีรายย่อย ให้มีความสามารถในการผลิต และเป็นลูกหนี้ที่ดีได้ ธนาคารจึงจะเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เสริมสภาพคล่อง

“เราประเมินว่าปัญหาภัยแล้งเริ่มผ่อนคลาย จะเข้าไปดูว่ามีธุรกิจส่วนใดที่จะเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอให้มาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุด เราก็ได้เริ่มเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ให้กับเอสเอ็มอีและรายย่อย มีลูกค้าเข้าร่วม 100% แต่ก็ยังมีลูกค้าบางรายติดต่อเข้ามาขอชำระหนี้อยู่ ซึ่งชำระหนี้เงินต้นกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 3.28 ล้านราย  มูลหนี้ทั้งสิ้น 9.2 แสนล้านบาท”

ทั้งนี้ คาดว่าหากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ในด้านรายได้ของลูกค้า จะไม่กระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ เนื่องจากยังมีธุรกิจบางรายที่สามารถดำเนินกิจการได้ เช่น ธุรกิจพืชผล อาหาร ยา เป็นต้น แต่ในด้านค่าใช้จ่ายจะได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากขณะนี้ผู้ตกงานกลับมาอยู่บ้าน ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และรายได้เสริมที่ได้จากลูกหลานส่งมาให้ก็ลดลงด้วย  ซึ่งธ.ก.ส. ก็อยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการยืดเวลาการชำระหนี้เอสเอ็มอีออกไปอีกจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งจะหารือกับธนาคารออมสินอีกครั้ง เพื่อได้ข้อสรุประยะเวลาการยืดเวลาพักหนี้ที่ตรงกัน