จ่ายอืดงบกลางโควิดเหลือบาน เร่งโยกโครงการใช้ 6.7 หมื่นล้าน

งบฯกลางฉุกเฉินแก้โควิด โอนจากทุกหน่วยงาน 8.8 หมื่นล้าน เหลือบานตะไท 6.7 หมื่นล้าน หวั่นชง ครม.ไม่ทันสิ้น ก.ย.นี้ ถูกยึดคืนคลัง ผอ.สำนักงบฯ หนุนตั้งกองทุนเอสเอ็มอี 5 หมื่นล้าน หลังกฤษฎีกาตีความใช้เงินกู้ไม่ได้ สารพัดหน่วยงานโยกโครงการ “กระตุ้นท่องเที่ยว-จ้างงานนักศึกษา” รุมใช้เงินฉุกเฉิน เผยงบประมาณปีหน้ามีอีก 1.5 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 ที่มีการโอนเงินจากหน่วยงานต่าง ๆ มารวมไว้ในงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 88,452,597,900 บาท เพื่อเตรียมไว้รับมือการดูแลผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2563

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2563 แล้ว ยังเพิ่งมีการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบฯกลางดังกล่าวเพียงประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเศษเท่านั้น ยังเหลือวงเงินอีกราว 6.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากอนุมัติใช้ไม่ทันสิ้นเดือน ก.ย.นี้ จะมีผลทำให้งบประมาณดังกล่าวถูกพับไป

“ตอนนี้เศรษฐกิจแทบไม่มีการกระตุ้น ไม่มีเงินที่จะดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อย่างเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมก็ออกช้า วงเงินมี 4 แสนล้านบาท แต่เพิ่งออกไปได้จริง ๆ แค่กว่า 4 หมื่นล้านบาท และที่สำคัญงบฯกลางที่โอนมาจากหลายหน่วยงานกว่า 8 หมื่นล้านบาท ก็ยังเหลืออีกถึง 6.7 หมื่นล้านบาท ไม่มีการอนุมัติออกไป ซึ่งขณะนี้จะสิ้นเดือน ก.ย.แล้ว ถ้าอนุมัติไม่ทันก็ต้องถูกพับไป” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็มีการเสนอขอใช้งบฯจากเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมาดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ในรูปของกองทุน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่ากฎหมายของ สสว.ไม่สามารถให้ใช้เงินกู้ดังกล่าวได้ ต้องขอใช้เงินจากงบประมาณประจำปีเพียงอย่างเดียว ดังนั้นหากสามารถใช้งบฯกลางที่เหลืออยู่ได้ ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้

หนุนเอสเอ็มอี-กระตุ้นท่องเที่ยว

ขณะที่ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า บางโครงการที่ขอใช้เงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาทไป แต่หากสามารถปรับมาใช้งบฯกลางแทนได้ ก็จะใช้งบฯกลางไปก่อน อาทิ กองทุนเอสเอ็มอี 5 หมื่นล้านบาท โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงโครงการจ้างงานนักศึกษา ที่หากสามารถเสนอโครงการเข้ามาได้ทัน เป็นต้น

“แค่นี้ก็น่าจะเต็มวงเงินแล้ว คือ โครงการอะไรก็ตามที่เป็นการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ก็สามารถอนุมัติให้ได้หมด ทั้งนี้จะพิจารณาว่า ตอนนี้โครงการที่เสนอขอใช้เงินกู้ไป ถ้าสามารถเบิกจ่ายได้ทัน ก็จะเปลี่ยนให้มาใช้งบฯกลางนี้แทน ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติใช้งบฯกลางอีก 3 สัปดาห์” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ที่มีการให้ใช้งบฯกลางในการจ่ายค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึง ก.ย. 2563 (รวม 7 เดือน) กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3 ล้านบาท จากที่ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เสนอขอใช้เงินกู้

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 นั้น สามารถใช้ได้ในเวลา 2 ปี ดังนั้น หากสามารถใช้งบฯกลางได้ก่อน ก็จะให้ใช้งบฯกลางก่อน เพื่อให้เสียดอกเบี้ยเงินกู้น้อยที่สุด

“งบฯกลางพออนุมัติไปแล้ว หน่วยงานก็ต้องไปทำกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ประกาศทีโออาร์ เชิญชวนเข้าร่วมประมูล อันนี้ก็ถือว่าเป็นการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีได้แล้ว ยังไม่ต้องถึงกับลงนามในสัญญา แต่ถ้าทำกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ ก็ต้องไปใช้เงินกู้” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

เตรียม 1.5 แสนล้าน พยุง ศก.

สำหรับปีงบประมาณ 2564 นั้น นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ได้มีตั้งงบฯกลางไว้ใช้สำหรับดูแลบรรเทา เยียวยา และแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และยังมีงบฯกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น อีก 9.9 หมื่นล้านบาท ดังนั้น รวมแล้วจะมีจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงินราว 1.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการพยุงเศรษฐกิจปีหน้า รวมถึงรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินได้ ซึ่งยังไม่รวมเงินกู้

ก่อนหน้านี้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ความคืบหน้าเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทนั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ได้เสนอโครงการรวมวงเงินทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้านบาท ให้ ครม.เห็นชอบหลักการเป็นลอตแรกไปแล้ว ล่าสุดอนุมัติโครงการไปแล้ว 4.3 หมื่นล้านบาท ยังเหลือวงเงินอยู่อีก 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเสนอ ครม.ในสัปดาห์นี้

ส่วนลอตต่อไป คณะกรรมการกลั่นกรองฯทำงานร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ออกมาตรการกระตุ้น ซึ่งจะเน้นการท่องเที่ยว จ้างงาน และพัฒนาทักษะ วงเงินอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เช่น การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ การกระตุ้นการใช้จ่ายลงสู่รายเล็ก หาบเร่ แผงลอย การดูแลเอสเอ็มอี แพ็กเกจไทยเที่ยวไทย เป็นต้น ทั้งนี้จะทยอยดำเนินการอัดฉีดเงินเข้าระบบเป็นระยะ ๆ

“เงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท ไม่ได้ใช้ครั้งเดียวหมด เป็นเพราะว่ายังต้องติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หากกลับมาระบาดรอบ 2 ก็จะมีวงเงินเหลือไว้ใช้จ่าย แต่หากโชคดีไม่มีการระบาดรอบ 2 เงินที่เหลืออยู่ก็จะนำไปใช้ในแพ็กเกจอื่น ๆ ซึ่ง ศบศ.ก็กำลังคิดแพ็กเกจอยู่ หากมีการพิจารณารายละเอียดชัดเจนแล้ว ก็จะเสนอ ครม.ต่อไป” นายทศพรกล่าว