แนวทางประเมินสภาพคล่องธุรกิจ SMEs เพื่อ “เราต้องรอด” (1)

ธุรกิจ SMEs
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ Smart SMEs
TMB Analytics

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากจะกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมากแล้ว ยังเปรียบดั่งพายุที่ถาโถมสู่ SMEs ไทย ซึ่งมีการจ้างงานรวมถึง 12 ล้านคนทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงและเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมไปถึงการขาดกระแสเงินสดหลังจากผ่านช่วงล็อกดาวน์ แม้ว่าภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการช่วยเหลือ อาทิ มาตรการสินเชื่อ soft loanเสริมสภาพคล่อง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบปรับลดลง และการเลื่อนชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา

ปัจจุบันภาวะธุรกิจต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ยังมีสภาพคล่องที่อ่อนแอจากรายได้ที่หดหายไป หลายธุรกิจกำลังพะวงกับภาระหนี้ที่อาจกลับมาหลังจากมาตรการการช่วยเหลือจากรัฐ

ที่สำคัญคือการเลื่อนชำระหนี้ที่สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนี้การบริหารสภาพคล่องของธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องทำเพื่อประคองธุรกิจให้ไปต่อโดยไม่สะดุดล้มลงซ้ำเดิม

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เสนอแนวทางการประเมินสภาพคล่องของผู้ประกอบการSMEs ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ประกอบการSMEs สามารถนำไปบริหารจัดการสภาพคล่องให้สอดคล้องภาวะธุรกิจ และช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs พิจารณาทางเลือกมาตรการรัฐ มาช่วยเสริมในการพยุงให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ 2 แนวทาง ดังนี้

แนวทางที่ 1 การวิเคราะห์คาดการณ์รายจ่ายและรายได้ของธุรกิจ หากเปรียบธุรกิจเป็นร่างกายของเรา รายจ่ายที่ไม่จำเป็นก็เปรียบเสมือนแผลที่เลือดไหลไม่หยุด หากเราไม่ได้สมานแผลเหล่านี้ความเจ็บปวดก็จะคงดำเนินต่อไป การวิเคราะห์ประมาณการรายจ่ายให้สมดุลกับรายได้และทรัพย์สินจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อสภาพคล่องและผลประกอบการของธุรกิจ โดยทั่วไปรายจ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น เงินเดือน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ต้นทุนการผลิตสินค้า ฯลฯ จะเป็นรายการที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถบันทึกเป็นรายการประจำเดือนเพื่อการวิเคราะห์โครงสร้างค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งหากพิจารณาแล้วพบว่ารายได้ที่เกิดขึ้นต่ำกว่ารายจ่าย ผู้ประกอบการ SMEs อาจต้องเลือกตัดกิจกรรมที่สร้างรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือเลือกหยุดหน่วยธุรกิจที่ ณ ขณะนี้ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระยะอันใกล้

แนวทางที่ 2 การวิเคราะห์สภาพธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ว่าประสบปัญหาขาดทุน หรือขาดสภาพคล่องในรูปแบบใด การขาดทุน และการขาดสภาพคล่อง เป็น 2 สิ่งที่เกี่ยวข้องกัน แต่มีรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกัน TMB Analytics ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมุติ 3 กรณี เพื่อการวิเคราะห์การขาดสภาพคล่องดังนี้

กรณีที่ 1 ซื้อ/ผลิตของด้วยต้นทุน 100 บาท ขายของจนหมดแต่มีรายได้เพียง 80 บาท ในกรณีนี้คือการขาดทุน เพราะกำไรต่ำกว่าต้นทุนคงที่ (ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายประจำ) หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นถือว่าธุรกิจกำลังขาดทุนและมีความเสี่ยงจึงควรพิจารณาการลดต้นทุน ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายจ่ายโดยไม่จำเป็น (ตามที่ได้กล่าวไว้ในส่วนแรก) หรือปรับโครงสร้างราคาให้เหมาะสมขึ้น

กรณีที่ 2 ซื้อ/ผลิตของด้วยต้นทุน 100 บาท ขายได้ 200 บาท แต่เก็บเงินไม่ได้ตามเวลา เพราะมีระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (credit term) จากฝั่งลูกค้า ในขณะที่ต้องจ่ายเงินค่าของที่ซื้อมาขายแล้ว ในกรณีที่ “เงินจ่ายก่อนเงินเข้า” คือสถานการณ์ที่ธุรกิจ “ขาดสภาพคล่อง” การเจรจาต่อรองทั้งกับ supplier และลูกค้าของเราจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำในช่วงวิกฤตนี้

กรณีที่ 3 ซื้อ/ผลิตของด้วยต้นทุน 100 บาท แต่ขายของไม่หมด และต้องมีการเก็บสต๊อกสินค้าไว้ หากเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจแบบง่าย ๆ รูปแบบในอุดมคติคือการซื้อสินค้ามา ขายออกไปให้หมดและรับเงินสด แต่ในโลกความเป็นจริงธุรกิจมักเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถระบายสินค้าขายออกไปได้หมด แม้ว่าสินค้าคงคลังที่เหลืออยู่จะเป็นสิ่งที่สามารถสร้างรายได้ในอนาคต แต่การเก็บสินค้าไว้มักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายแฝงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าโกดังหรือสถานที่เก็บของ ค่าไฟฟ้า ค่าแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงเทคโนโลยีในการตรวจเช็กสต๊อกหรือค่ากล้องวงจรปิด

ดังนั้น การบริหารสินค้าคงคลังเหลือจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพื่อทำให้มีสภาพคล่องที่นำมาใช้หมุนเวียนต่อได้