ปี 2564 SMEs ต้องเผชิญ และต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

ธุรกิจ SMEs
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ smart smes
TMB Analytics

ปีนี้นับเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบขยายวงกว้างต่อเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยธุรกิจต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก จะเป็นธุรกิจที่พึ่งพิงความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดว่าในปี 2563 รายได้ที่พึ่งตลาดต่างประเทศจะสูญเสียไป 2.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะสูญเสีย 1.6 ล้านล้านบาท (-83% YOY) และการส่งออกสินค้าจะสูญเสีย 6 แสนล้านบาท (-10.1% YOY)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ความต้องการของตลาดภายในประเทศภายหลังจากคลายล็อกดาวน์ ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 จะพบว่ามีสัญญาณตัวชี้ที่ดีขึ้นตามลำดับ พิจารณาจากการบริโภคสินค้าภายในประเทศที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ เมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มบรรเทาลง

คำถาม คือ ในปีหน้า (ปีฉลู : 2564) แนวโน้มธุรกิจ SMEs จะต้องเผชิญคืออะไร และควรปรับตัวอย่างไรโดย TMB Analytics ประเมินว่าผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเผชิญกับ 4 เหตุการณ์สำคัญ ดังนี้

หนึ่ง…ธุรกิจ SMEs ที่อยู่รอดได้ต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์โควิด-19 ต่อไปในปีหน้า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในสถานการณ์โลกที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ประชากรทั่วโลกต่างกำลังฝากความหวังไว้กับวัคซีน และดูเหมือนว่าเริ่มจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง เมื่อกระบวนการผลิตวัคซีนจากนานาประเทศมีความคืบหน้าไปมาก และเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 และ 3

อย่างไรก็ตาม กระบวนการการทดสอบและการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ล้วนเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา จึงทำให้โอกาสที่จะได้ใช้วัคซีนจริงอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดช่วงปลายปี 2564

“ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

ฉะนั้น ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องพิจารณาใช้แพลตฟอร์มและเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์เพื่อจำหน่ายสินค้าของตนเอง ถือว่าเป็นช่องทางการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วและถูกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้”

สอง…รัฐบาลจะยังคงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อประคองให้ผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะใช้เงินกู้ของ พ.ร.ก.เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ยังคงมีงบประมาณส่วนที่เหลืออยู่

เป็นภารกิจที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมเพื่อประคองฟื้นฟูและสนับสนุนภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตดั่งเดิม

SMEs

“ดังนั้น ในปี 2564 จะเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องติดตามและพิจารณาใช้สิทธิประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ หรือเปลี่ยนให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ เพื่อพยุงสถานการณ์ธุรกิจให้เติบโตได้”

สาม…สุขภาพทางการเงินของภาคธุรกิจ SMEs จะยังคงไม่แข็งแรงเท่ากับช่วงก่อนการระบาด จากการลดลงของยอดขายและการเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจทุกรายที่ต้องการวิเคราะห์สภาวะการเงินของบริษัทว่าสามารถรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้มากเพียงไร และมีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผ่านวิกฤตไปถึงปีหน้า

“ดังนั้น ปัจจัยหลักในการบริหารจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs หลัก ๆ คือ การลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของธุรกิจ รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือการให้บริการ จะเป็นโจทย์สำคัญในการรักษาสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ”

สี่…ธุรกิจรายใหญ่จะหันมาทำการตลาดภายในประเทศและดำเนินธุรกิจแข่งขันกับ SMEs มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ธุรกิจรายใหญ่ที่เคยพึ่งพาการส่งออกจะหันมาเน้นการขยายตลาดและขายในประเทศ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันในประเภทสินค้าเหมือน ๆ กัน ในตลาดเดียวกัน จึงไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีสำหรับธุรกิจ SMEs ที่เสียเปรียบทั้งงบประมาณในการลงทุนและช่องทางการตลาด

“ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs จึงต้องปรับเปลี่ยนสินค้าให้แตกต่าง มีการเลือกกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองโดยเจาะตลาดกลุ่ม niche market และให้บริการแบบ personalized มากขึ้น จะช่วยสร้างความแตกต่างและสร้างข้อได้เปรียบได้แน่นอน และจากการที่ธุรกิจ SMEs มีความยืดหยุ่นในการบริหารที่คล่องตัวมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ก็สามารถใช้ความได้เปรียบตรงส่วนนี้ในการปรับกลยุทธ์ให้ทันสถานการณ์ได้ฉับไวและทันท่วงที”

จะเห็นว่าปีหน้า (ปี 2564) จะยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจทั้งจากภายในบริษัท อาทิ การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการหาโอกาสใหม่ภายนอกบริษัท ได้แก่ การพิจารณาทำการตลาดหรือสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการอื่น ๆ

สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน…