คลัง ส่งตัวแทนประชุมรมว.คลัง-ผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ยกระดับการค้า-ลงทุน

คลัง เผยผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 6 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 1 – 2 ต.ค.ที่ผ่านมา

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นางสาวเกตสุดา สุประดิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สศค. ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 24 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการ ธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 6 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 1- 2 ตุลาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประธานร่วม โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 24 และ AFMGM ครั้งที่ 6 เห็นชอบประเด็นหลักเพื่อเป็นกรอบการดำเนินการ (Chair’s Priorities) ปี 2563 ในด้านความร่วมมือด้านการเงินการคลัง ได้แก่ (1) การส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนในอาเซียน (Sustainable Financing in ASEAN) และ (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงของระบบการชำระเงินในภูมิภาค (Promote Regional Payment Connectivity) ซึ่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ดำเนินการผลักดันต่อเนื่องจากที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเมื่อปี 2562 ได้วางแนวทางไว้

2. ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 24 ได้ติดตามความคืบหน้าความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านศุลกากร ด้านภาษีอากร ด้านการประกันภัย และด้านการพัฒนาตลาดทุน เป็นต้น โดยที่ประชุมได้รับทราบความสำเร็จในการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ATIGA e-Form D) ผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window: ASW) ระหว่างกันได้ครบทั้ง 10 ประเทศ

ทั้งนี้ ในด้านการพัฒนาตลาดทุน นางสาวเกตสุดาฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน วงเงินรวมไม่เกิน 30,000 ล้านบาท โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นฐานการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งถือเป็นการดำเนินการด้านการเงินยั่งยืนตามแนวทางของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF)

3. ที่ประชุม AFMGM ครั้งที่ 6 ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในสาขาต่างๆ ภายใต้แผนงานการรวมกลุ่มด้านการเงินของอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN) เช่น การเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน การเข้าถึงบริการทางการเงิน การส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น โดยที่ประชุมได้รับรองรายงานของคณะทำงานเพื่อพัฒนาตลาดทุน เรื่อง การส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนในอาเซียน (Report on Promoting Sustainable Finance in ASEAN)

ซึ่งรายงานดังกล่าวได้ระบุถึงประเด็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมวาระการเงินที่ยั่งยืนในอาเซียน อนึ่ง นางสาวเกตสุดาฯ ได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการเร่งเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินในรอบที่ 9 ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการเงินของอาเซียน เพื่อยกระดับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนไทยในการขยายการค้าการลงทุนในสาขาบริการด้านการเงินออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้สะดวกยิ่งขึ้น

4. นอกจากนี้ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ได้นำเสนอต่อที่ประชุมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของอาเซียนและของโลก โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจอาเซียนจะหดตัวประมาณร้อยละ 4.9 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แต่จะกลับมาขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6.0 ในปี 2564

และเน้นย้ำว่า การสร้างเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน (Resilient Economy) ควรเป็นเป้าหมายหลักของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเตรียมรับสภาวะความปกติใหม่ (New Normal) หลังสถานการณ์การแพร่ระบาด คลี่คลายลง ทั้งนี้ ในส่วนของอาเซียนแต่ละประเทศได้มีมาตรการรับมือกับสถานการณ์อย่างทันท่วงที ตลอดจนได้มีความร่วมมือ เช่น การก่อตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับ COVID-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund) การจัดทำร่าง ASEAN Comprehensive Recovery Framework เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เห็นว่า ยังมีความท้าทายอยู่ โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจอาเซียนจะต้องอาศัยความร่วมมือระดับประเทศที่แข็งแกร่งจากหลายภาคส่วน การพัฒนาระบบสาธารณสุข การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้อาเซียนพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและเป็นแบบอย่างแก่ประชาคมโลกต่อไป

ทั้งนี้ การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวของประเทศไทยเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยเฉพาะในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน อันจะเป็นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งยังจะส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับต่างประเทศเพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกต่อไป

สำหรับการประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งต่อไปในปี 2564 จะมีบรูไนดารุสซาลามเป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 -30 มีนาคม 2564