ย้อนรอย ช้อปช่วยชาติ สู่ ช้อปดีมีคืน ยาวิเศษปลุกตัวเลขจีดีพี

กราฟิกช้อปช่วยชาติ

ย้อนรอย “ช้อปช่วยชาติ” สู่ “ช้อปดีมีคืน” “ยาวิเศษ” ปลุกตัวเลขจีดีพีรัฐบาล “ประยุทธ์”

ถูกพูดถึงกันอย่างมาก หลังรัฐบาล โดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้เห็นชอบมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทไปในการประชุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ดังกล่าว มีลักษณะเดียวกันกับมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ที่รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เคยทำมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2558

โดยเมื่อย้อนกลับไปช่วงปี 2558-2561 เป็นเวลา 4 ปี “ช้อปช่วยชาติ” ถูกงัดออกมาใช้เพื่อ “บูสต์” ตัวเลขเศรษฐกิจปลายปีมาต่อเนื่องทุกปี  ได้แก่

  • ปี 2558 ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. รวม 7 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ปี 2559 ระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค. รวม 18 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ปี 2560 ระหว่างวันที่ 11 พ.ย.-3 ธ.ค. รวม 23 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ปี 2561 ระหว่างวันที่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค.2562 รวม 31 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (เฉพาะการซื้อสินค้า หรือค่าบริการเกี่ยวกับการเปลี่ยนยางรถยนต์ หรือค่าซื้อหนังสือ หรือบริการ e-Book และสินค้าโอท็อป)

ส่วนในปี 2562 ไม่มีมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ตอนปลายปี เนื่องจากระหว่างปีมีมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจแทน

และมาปี 2563 นี้เปลี่ยนชื่อเป็น มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ระหว่างวันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. รวม 70 วัน ให้วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท

ทั้งนี้ ในปีแรกที่เริ่มนำ “ช้อปช่วยชาติ” มาใช้ เป็นเวลา 7 วัน กระทรวงการคลังประเมินว่า จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 9,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้ภาษีราว 1,200 ล้านบาท และคาดว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มได้ 0.014% ซึ่งบทสรุปเศรษฐกิจไทยในปีนั้น ก็คือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวได้ 2.9% ต่อปี จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 0.8% ต่อปี

ขณะที่ในปี 2559 ที่มีเพิ่ม “ช้อปช่วยชาติ” เป็น 18 วัน คาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีได้ราว 0.02-0.03% มีเงินสะพัดราว 17,000 ล้านบาท ซึ่งปีนั้นจีดีพีขยายตัวได้ 3.2% ต่อปี

ต่อมาปี 2560 เพิ่มเวลา “ช้อปช่วยชาติ” เป็น 23 วัน กระทรวงการคลังประเมินว่า รัฐจะสูญเสียรายได้ 1,800 ล้านบาท แต่จะได้ภาษี VAT คืนมา มีเงินสะพัด 22,500 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.05% ซึ่งปีนั้นจีดีพีขยายตัวได้ 3.9% ต่อปี

และในปี 2561 เพิ่มเวลา “ช้อปช่วยชาติ” เป็น 31 วัน แต่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเฉพาะการซื้อสินค้า หรือค่าบริการเกี่ยวกับการเปลี่ยนยางรถยนต์ หรือค่าซื้อหนังสือ หรือบริการ e-Book และสินค้าโอท็อป ไม่ใช่สินค้าทุกประเภท โดยประเมินว่ามีเงินสะพัด 12,000 ล้านบาท ซึ่งปีดังกล่าวจีดีพีขยายตัวได้ 4.1% ต่อปี

ส่วนปี 2562 ที่ไม่มี “ช้อปช่วยชาติ” แต่มี “ชิมช้อปใช้” จีดีพีขยายตัวได้ 2.4% ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

มาถึงปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจีดีพีปีนี้จะหดตัว -7.8% ต่อปี (กรณียังไม่มีมาตรการช้อปดีมีคืน) ซึ่งกระทรวงการคลังคาดหวังว่า หากดำเนินมาตรการมากกว่า 2 เดือนขึ้นไปน่าจะมีเงินสะพัดได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท

โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” วิเคราะห์ว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” มีลักษณะเดียวกันกับโครงการช้อปช่วยชาติที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายปี 2558-2561 ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมาตรการช้อปช่วยชาติในช่วงก่อนหน้านี้กำหนดวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ซึ่งประเมินว่า หากมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 1.85 ล้านคน จะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 5.55 หมื่นล้านบาท แต่หากมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 4 ล้านคน จะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 1.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่่ง และมาตรการเติมเงินสวัสดิการเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาทให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2563 มีแนวโน้มดีขึ้นและหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้า

นอกจากนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มีมุมมองเพิ่มเติมว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” น่าจะช่วยให้เกิดการระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่สูง ท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งจะช่วยผลักดันยอดขายและเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยในภาพรวมภาคค้าปลีกน่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากที่สุด ในขณะที่ยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาคธนาคาร เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะขยายตัวมากขึ้น

รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจากรัฐบาลโดยตรง ดังเช่นมาตรการแจกเงินผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกันในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่กระทบสถานะทางการคลังในปัจจุบันเท่าใดนัก ขณะที่ภาระทางภาษีจากมาตรการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปีหน้า หลังจากที่มีการยื่นภาษีไปแล้ว ซึ่งท่ามกลางระดับหนี้สาธารณะที่เข้าใกล้ 60% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน รัฐบาลคงต้องพิจารณาออกมาตรการต่างๆ อย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและกระทบต่อวินัยทางการคลังน้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เห็นว่ามาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียงชั่วคราว และคงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก


ต้องติดตามกันต่อไปว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” จะเป็น “ยาวิเศษ” ปลุกชีพเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้แค่ไหน และจะคุ้มกับเงินภาษีที่รัฐยอมแลกไปหรือไม่ ซึ่งคงต้องประเมินผลออกมาให้เห็นกันอย่างชัดเจนด้วย