ฟื้นช็อปช่วยชาติปลุกจับจ่าย 23 ต.ค. ลดหย่อนภาษี 3 หมื่น ธุรกิจจี้รัฐขอบิ๊กแพ็กเกจ

คลังปัดฝุ่น “ช็อปช่วยชาติ” ลดหย่อนภาษีได้ 3 หมื่นบาท กระตุ้นจับจ่าย ระยะเวลา 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 ชี้คิกออฟพร้อม “เติมเงินบัตรคนจน-คนละครึ่ง” ดันจีดีพีโตเพิ่มอย่างน้อย 0.25% “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี” ชี้กลุ่มได้รับผลกระทบโควิดน้อย 15.5 ล้านคน ยังมีกำลังซื้อ เอกชนหนุนรัฐบาลจัดมาตรการเป็น “แพ็กเกจ” กระตุ้นจับจ่าย-ฟื้นบริโภค

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจากมาตรการที่เคยดำเนินการมาแล้ว อย่างมาตรการชิม ช้อป ใช้ และมาตรการช็อปช่วยชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้เสียภาษีออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

ล่าสุด ที่ประชุม ศบศ. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช้อปดีมีคืน ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ  โดยเป็นการลดหย่อนภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่ จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากการดำเนินมาตรการทั้งหมด 55,500 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการภาษี “ช็อปช่วยชาติ” เหมือนที่เคยทำมาในอดีต คือ ให้หักลดหย่อนภาษีได้ สำหรับการซื้อสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับกรมสรรพากร แต่ไม่รวมสินค้าจำพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สุรา เบียร์ และไวน์) บุหรี่ ทองคำแท่ง (ส่วนทองรูปพรรณลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จ) การชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ซื้อแพ็กเกจทัวร์ ซื้อประกันชีวิต ประกันภัยรถยนต์ ซื้อบัตรของขวัญของห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อมีการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้

“ที่ผ่านมา มีมาตรการคนละครึ่ง กับเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท 3 เดือนไปแล้ว ก็ยังมีกลุ่มคนมีเงินที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยทำทั้งมาตรการช็อปช่วยชาติที่เป็นมาตรการภาษี และมาตรการชิม ช้อป ใช้ที่เป็นการให้ cash back ไปแล้ว ก็จะนำมาตรการเหล่านี้กลับมาใช้ แต่ขึ้นกับ ศบศ.จะเลือกมาตรการใด เพราะมีข้อดีข้อจำกัดต่างกัน”

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน มาตรการช็อปช่วยชาติจะเหมาะสมกว่า แม้จะเคยทำมาแล้ว แต่รอบนี้จะดำเนินการพร้อมกับมาตรการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศที่รัฐบาลประกาศไปแล้ว คือ การเติมเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาทเป็นเวลา 3 เดือน และมาตรการคนละครึ่ง ที่รัฐช่วยจ่ายค่าซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้มากขึ้น โดยกรณียังไม่รวมมาตรการช็อปช่วยชาติ มาตรการคนละครึ่งและเติมเงินบัตรสวัสดิการที่ใช้เงินรวม 51,000 ล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.25% ของ GDP

สำหรับช็อปช่วยชาตินั้น ผู้ใช้สิทธิจะต้องเก็บใบกำกับภาษีไว้เพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีในการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้ประจำปี 2563 ที่จะยื่นในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2564 โดยผู้ที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 35% จะหักภาษีได้สูงสุด 5,250 บาท ในกรณีซื้อสินค้าเต็มวงเงิน 15,000 บาท ขณะที่ผู้เสียภาษีอัตราต่ำสุดที่ 5% จะหักภาษีได้สูงสุด 750 บาท ในกรณีซื้อสินค้าเต็มวงเงิน 15,000 บาท

2.5 แสนร้านค้าแห่ร่วมคนละครึ่ง

นายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับโครงการคนละครึ่ง จะเปิดให้ประชาชนหรือผู้ที่มีสัญชาติไทย มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีบัตรประจำตัวประชาชน ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.นี้ เวลา 06.00 น.-23.00 น. จำกัดไม่เกิน 10 ล้านคน เมื่อครบจะปิดให้ลงทะเบียนทันที

“โครงการนี้ภาครัฐจะร่วมจ่ายเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไปผ่านฝ่ายของผู้ซื้อ 50% ซึ่งจะไม่เกิน 150 บาทต่อวันต่อคน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดโครงการ เป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเติมกำลังซื้อของประชาชนให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเงิน 6 หมื่นล้านบาท” นายลวรณกล่าว

นายลวรณกล่าวอีกว่า จากที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 2.5 แสนร้านค้าแล้ว และร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ยังสามารถลงทะเบียนได้อย่างต่อเนื่องแบบไม่มีการจำกัดเวลา เนื่องจากรัฐต้องการให้ร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการให้มากที่สุด เพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนในร้านค้ารายเล็กอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัวด้วย

ส.ค้าปลีกหนุนลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กระตุ้นกลุ่มกำลังซื้อสูง

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้เสนอมาตรการในการกระตุ้นการบริโภคมาเป็นระยะ ๆ รวมทั้งการเข้าพบนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา อาทิ การกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างผ่านโครงการช็อปช่วยชาติ การลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งกระตุ้นการจับจ่ายผ่านโครงการช็อปช่วยชาติซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีที่บุคคลสามารถนำการใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีของรอบภาษีปีนั้น ๆ จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในปี 2558 และปี 2559 มีผู้เข้าโครงการใช้จ่ายถึงกว่า 1.5 ล้านคน สำหรับปีนี้ หากกำหนดให้สามารถจับจ่ายสินค้าได้ทุกประเภทโดยมีวงเงิน 50,000 บาท ในระยะเวลาอย่างน้อย 60 วัน คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 7.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนการกระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มคนที่ยังมีกำลังซื้ออยู่กว่า 8 ล้านคน ผันเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการทดลองลดภาษีสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ทั้งนี้จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ยังดำรงอยู่ การเดินทางไปต่างประเทศก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ประชาชนส่วนหนึ่งที่นิยมไปเที่ยวต่างประเทศและช็อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี ที่ผ่านมาก็คงอยากที่จะช็อปปิ้งสินค้าเหล่านั้น จากข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รายงานว่า ในปี 2557 ค่าใช้จ่ายที่คนไทยนำเงินไปใช้จ่ายไปต่างประเทศสูงถึง 178,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้ ใช้จ่ายช็อปปิ้งสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์เนมถึงกว่า 51,000 ล้านบาท หากเราลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าว เชื่อว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

“หากทางการกำหนดวงเงินของโครงการช็อปช่วยชาติไว้ที่ 15,000 ล้านบาท สมาคมมองว่า เป็นเม็ดเงินที่น้อยเกินไป และอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ส่วนการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์นั้น หากลดลงมาเพียงครึ่งหนึ่ง หรือจาก 30% ให้เหลือเพียง 15% ก็จะทำให้คนกลุ่มนี้หันมาซื้อสินค้าในประเทศแทนมากขึ้น” ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าว

TMB หนุนใช้จ่ายฟื้นเศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณแผ่วลง จากที่มีทิศทางปรับดีขึ้น หลังคลายล็อกดาวน์ โดยล่าสุด ในเดือน ส.ค. การใช้จ่ายสินค้าหมวดไม่คงทนและหมวดบริการแผ่วลง จากกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ มีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่แรงส่งของการฟื้นตัวจะอ่อนแรงลงไปอีก

ทั้งนี้ TMB Analytics เสนอแนะให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเป็นแพ็กเกจ เน้นกลุ่มที่รายได้ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อหนุนการบริโภคในภาพรวม โดยมองว่าเมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคต่างประเทศของไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดระบาดโควิดรอบสอง ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จึงมองว่ามาตรการจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นค่าใช้จ่ายในประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหลังคลายล็อกดาวน์ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (เที่ยวปันสุข-เราไปเที่ยวกัน-กำลังใจ) ที่เชื่อมโยงไปกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย และที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในเดือนตุลาคมนี้ คือ มาตรการ “คนละครึ่ง” โดยรัฐจะจ่ายให้ 50% ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาท เป็นจำนวน 10 ล้านคน ประเมินว่าจะมีส่วนพยุงกำลังซื้อของคนในประเทศ ทำให้สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันยังขยายตัวได้ อีกทั้งจะช่วยพยุงกิจการของผู้ประกอบการรายเล็ก

TMB Analytics ระบุด้วยว่า จากข้อมูลผู้มีรายได้ในตลาดแรงงาน พบว่า มีกลุ่มที่รายได้ได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างจำกัดเป็นจำนวน 15.5 ล้านคน หรือ 40% ของจำนวนคนในตลาดแรงงาน (38.2 ล้านคน) ซึ่งโดยรวมยังมีอำนาจซื้ออยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบด้วยข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทและธุรกิจเอกชน (ไม่รวมกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง) ดังนั้น หากมีมาตรการเพิ่มเติมมาช่วยกระตุ้นในกลุ่มนี้ใช้จ่ายมากขึ้น คาดว่าจะช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาจเป็นในรูปแบบมาตรการที่นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเป็นเงินสดคืนให้เป็นร้อยละของยอดใช้จ่าย (cash back)

ศบศ. เคาะ “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่นบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วานนี้ (7 ต.ค.63) ศบศ. เห็นชอบมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ภายใต้ มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ระยะเวลา 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563

วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ สนับสนุน ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น และส่งเสริมการอ่าน โดยเป็นการลดหย่อนภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่ จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ประกอบการค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการขาย หนังสือและสินค้า OTOP โดยไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน

มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 เพื่อใช้ ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ณ มีนาคม 2564 โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเนื่องจากการดำเนิน มาตรการทั้งหมด 55,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากประชาชนได้ใช้สิทธิ์โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่ง รัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้

“กสิกร” ชี้ “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นใช้จ่ายแค่ชั่วคราว

วันที่ 8 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง “มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ช่วยกระตุ้นการบริโภค แต่ผลประโยชน์ต่อการจ้างงานคงมีจำกัด” โดยระบุว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท

ทั้งนี้ มาตรการ “ช็อปดีมีคืน” มีลักษณะเดียวกันกับโครงการช้อปช่วยชาติที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2558-2561 โดยมาตรการช้อปช่วยชาติในช่วงก่อนหน้านี้กำหนดวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ขณะที่มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กำหนดวงเงินที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งจะต้องเป็นการใช้จ่ายในช่วง 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 คิดเป็นระยะเวลา 70 วัน

โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่ผู้มีรายได้ระดับปานกลางและรายได้สูง โดยคาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาส 4/2563 ทั้งนี้ หากรวมกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่ง และมาตรการเติมเงินสวัสดิการเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาทให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2563 มีแนวโน้มดีขึ้นและหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” น่าจะช่วยให้เกิดการระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่สูง อีกทั้งจะช่วยผลักดันยอดขายและเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยในภาพรวมภาคค้าปลีกน่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากที่สุด ในขณะที่ยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาคธนาคาร เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะขยายตัวมากขึ้น

จ้างงานจำกัด-การผลิต-อุปสงค์ยังไม่ฟื้น

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียงชั่วคราว และคงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตอาจจะยังไม่พิจารณากลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก

ขณะที่การฟื้นตัวของการบริโภคหลังจากที่มาตรการหมดลงไปแล้วคงกลับมาขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว รายได้จากการจ้างงาน และรายได้ภาคการเกษตร เป็นสำคัญ ซึ่งท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในระยะข้างหน้า