“เคทีซี” กำไร Q3 ลดลง 5.5% เหลือ 1,221 ล้าน

ระเฑียร  ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคทีซี

“เคทีซี” กำไรไตรมาส 3 ลดลง 5.5% เหลือ 1,221 ล้านบาท 9 เดือนกำไรสุทธิ 4,011 ล้านบาท ยอดสเปนดิ้งบัตรเครดิตหด 8.3%-รายได้รวมติดลบ 1% รับผลพวงแบงก์ชาติลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต-สินเชื่อพีโลน-มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ‘ระเฑียร’ เร่งเครื่องปรับกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ เดินหน้าธุรกิจใหม่ คุมต้นทุนค่าใช้จ่ายการเงิน

นายระเฑียร  ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง โดยเริ่มเห็นความร่วมมือของผู้ประกอบการที่พร้อมจะช่วยกันฟื้นฟูประเทศ เพื่อช่วยกันให้ประเทศไทยไปต่อ สร้างโอกาสสนับสนุนให้คนไทยสร้างอาชีพและรายได้ ทำให้สัญญาณความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายภาคประชาชนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

โดยผลประกอบการของบริษัทช่วง 9 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ย.63) ภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 เคทีซีมีกำไรสุทธิ 4,011 ล้านบาท และกำไรสุทธิไตรมาส 3 อยู่ที่ 1,221 ล้านบาท ลดลง 5.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมอยู่ที่ 84,347 ล้านบาท ขยายตัว 5.9% มีฐานสมาชิกรวม 3.5 ล้านบัญชี แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,583,462 บัตร ขยายตัว 5% เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 54,684 ล้านบาท ขยายตัว 6.9%

ส่วนอัตราเติบโตของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 9 เดือนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 139,993 ล้านบาท ลดลง 8.3% ด้านคุณภาพหนี้(NPL) รวม ลดเหลือ 1.9% ขณะที่ NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.4% สินเชื่อบุคคล (รวมสินเชื่อธนวัฏและสินเชื่อเจ้าของกิจการ) 895,878 บัญชี ลดลง 8% จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา

เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 29,663 ล้านบาท เติบโต 5.1% และ NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.6%

ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนเคทีซีมีรายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ไตรมาส 3 และ 9 เดือนของปี 2563 เท่ากับ 3,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 10,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% ตามลำดับ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) มีมูลค่า 1,093 ล้านบาท ลดลงที่ -10.3% และ 3,245 ล้านบาท ลดลงที่ -11.6% ตามลำดับ

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) เท่ากับ 31.7% ลดลงจาก 34.0% เนื่องจากบริษัทเน้นทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น และลดการจัดกิจกรรมการตลาดทั้งในการจัดหาบัตรใหม่และการส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านบัตร

สำหรับรายได้รวม 9 เดือนปี 2563 อยู่ที่ 16,490 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งถูกกดดันจากมาตรการของแบงก์ชาติลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของ 2 ธุรกิจหลักที่ลดลง คือ ธุรกิจบัตรเครดิตลดลงที่ 2% และสินเชื่อบุคคลลดลงที่ 3%

อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามมาตรการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยมีกลุ่มลูกหนี้ที่สมัครเข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้กับเคทีซีประมาณ 7,800 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 600 ล้านบาท (ข้อมูลถึง30 ก.ย.63)

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 11,476 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบริหารงาน 5,223 ล้านบาท ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ) 5,095 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 1,159 ล้านบาท ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง 8% จากรายการทางการค้าและกิจกรรมการตลาดที่ลดลง ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ) มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็นหนี้สูญ 3,734 ล้านบาท และหนี้สงสัยจะสูญ 1,361 ล้านบาท

“จากวิกฤตโควิดระบาดรุนแรงทั่วโลกและยังไม่มีจุดสิ้นสุด ประกอบกับกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง ทำให้เคทีซีต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในลักษณะของการทำลายอย่างสร้างสรรค์หรือที่เรียกว่า Creative Disruption โดยพิจารณาสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นมาหนุนธุรกิจหลักเดิม ด้วยการศึกษา “พิโก ไฟแนนซ์” หรือ “นาโน ไฟแนนซ์” และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และในที่สุดได้ตัดสินใจเปิดสินเชื่อใหม่หลากรูปแบบขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้แบรนด์ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ในรูปแบบของสินเชื่อที่มีหลักประกัน นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลและวิธีดำเนินโครงการเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน (Payment System) ซึ่งคาดว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะมาเสริมธุรกิจหลัก และสร้างโอกาสให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว” นายระเฑียรกล่าว