ทำความรู้จัก “อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย” เรียนยาก-รายได้สูง

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือที่เรียกกันว่า “แอคชัวรี” คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบการเงิน โดยนำความรู้ด้านคณิตศาสตร์ การเงินและสถิติความน่าจะเป็นมาใช้ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์อดีต จำลองอนาคต เพื่อคำนวณคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน และสื่อสารออกไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงธุรกิจ

ซึ่งครอบคลุมเรื่องการสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ต้องคาดการณ์โดยใช้สถิติว่าจะต้องจ่ายเงินคืนในอนาคตเท่าไรและเมื่อไร และต้องได้รับการสอบคุณวุฒิให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถมองภาพระยะยาวให้ไกลมากที่สุด เพื่อตั้งสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยให้กับธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็เหมือนกับนักบัญชี โดยการคำนวณของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจะส่งผลต่อสถานภาพทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการสอบใบอนุญาตเพื่อรับรองความสามารถ และให้ความมั่นใจว่าตัวเลขดังกล่าวสามารถเชื่อถือในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ โดยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตามมาตรฐานสากลที่เป็น universal ในขณะนี้ มีอยู่ 2 ระดับ คือ

1. ระดับเฟลโล่ คือคนที่มีคุณวุฒิในการประกอบวิชาชีพนี้โดยสมบูรณ์แล้ว โดยการเป็นเฟลโล่ที่มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านสายนั้นๆ

2. ระดับแอสโซซิเอต คือคนที่สอบวิชาความรู้ทางคณิตศาสตร์ประกันภัยทางวิชาพื้นฐาน ที่เทียบเท่าความรู้ระดับปริญญาตรี เช่น คณิตศาสตร์การเงิน สถิติความน่าจะเป็น ทฤษฎีและการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์การเงินต่างๆ บวกกับ ความรู้ที่นำมาประยุกต์ใช้จริง ซึ่งผู้ที่มีคุณวุฒิในระดับนี้ สามารถจะทำงานในระดับที่ช่วยเหลือเฟลโล่ในการคำนวณหรือวิเคราะห์ได้อย่างดี

โดยเงินเดือนจะเพิ่มตามวุฒิขั้นละ 5,000 บาท หรือจะมีรายได้สูงเฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท

แต่ละประเทศ แต่ละรัฐ หรือแต่ละประเภทธุรกิจ ก็จะมีการระบุระดับคุณวุฒิที่นำไปใช้ยื่นขอใบอนุญาตในการเซ็นรับรองทางคณิตศาสตร์ประกันภัยที่แตกต่างกัน ซึ่งการประเมินโดยใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยต่างๆ ยังรวมถึงการออกแบบระบบการเงิน  และการรับรองความถูกต้องของรายงานงบการเงินที่ต้องอาศัยสมมติฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัยอีกด้วย

ทั้งนี้ในประเทศไทยนั้น ใบอนุญาตในการเป็น  “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย”  ในธุรกิจประกันชีวิต จะอยู่ภายใน พรบ.ประกันชีวิต ส่วนใบอนุญาตในการเป็น “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ในธุรกิจประกันวินาศภัย จะอยู่ภายใน พรบ.ประกันวินาศภัย

ส่วนบริษัทนอกธุรกิจประกันภัย ไม่ได้มีการกำหนดว่าใครมีคุณสมบัติเป็น “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ในขณะนี้จึงสามารถจัดจ้างได้อย่างอิสระ ขึ้นกับวิจารณญาณของผู้จัดจ้างและผู้สอบบัญชีในการประเมินประสบการณ์และคุณภาพงานของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น โดย ตรวจสอบคุณวุฒิของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย 

ล่าสุด ไทยสมุทรประกันชีวิต เซ็นเอ็มโอยู มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปั้นบุคลากรคุณภาพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ตอบโจทย์การเป็น Digital Insurer

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต(Ocean Life) กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ รศ.ดร.ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านประกันภัย และความร่วมมือทางวิชาการอื่นๆ

รวมทั้งเพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ส่งเสริมการเติบโตให้กับบริษัทมุ่งสู่การเป็น Digital Insurer อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมผลักดันให้การทำประกันชีวิตเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคนต่อไป