KKP Research ชี้ “คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน-บัตรคนจน” กระตุ้นเศรษฐกิจน้อย

ช้อปปิ้ง

เปิดบทวิเคราะห์ “KKP Research” ชี้มาตรการ “คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน-เติมบัตรคนจน” ส่อกระตุ้น เศรษฐกิจได้น้อยกว่าคาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “KKP Research” โดยเกียรตินาคินภัทร ได้ประเมินว่าผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ 3 มาตรการที่ออกมาในช่วงนี้ ว่าอาจให้ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สูงมากนัก โดยคาดว่าการใช้จ่ายผ่านทั้ง 3 มาตรการ จะช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี ประมาณ 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้ว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท

โดย สศค. คาดว่ากำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นภายใต้มาตรการกระตุ้นรอบใหม่นี้ ส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เป็นเงิน 111,000 ล้านบาท จากโครงการ “คนละครึ่ง” 60,000 ล้านบาท และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมอีก 21,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 192,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ KKP Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นในรอบนี้ แม้จะมีการใช้จ่ายตามมาตรการ แต่อาจนับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากเท่าที่รัฐบาลคาดไว้ โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ด้วยสาเหตุหลัก 3 ประการคือ

1) กำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากจากภาวะการว่างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ถูกกระทบอย่างหนัก จากสถานการณ์ COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยสถานการณ์การจ้างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าถึงแม้จำนวนคนตกงานจะมีเพียง 7.5 แสนคนในเดือนมิถุนายน คิดเป็นอัตราการว่างงานเพียง 1.9% แต่มีแรงงานอีก 2.5 ล้านคนที่ต้องหยุดงานชั่วคราว และอีก 7.6 ล้านคนที่ทำงานไม่เต็มเวลาคือน้อยกว่า 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (Underemployed) อีกถึง 7.6 ล้านคน สามกลุ่มนี้รวมคิดเป็น 30% ของแรงงานไทยทั้งหมด และถึงแม้ตัวเลขจะปรับดีขึ้นบ้างในเดือนล่าสุดคือเดือนสิงหาคม แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 22%

สะท้อนถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานไทยและรายได้ของผู้คนที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่หายไป
ที่น่ากังวลคือ หากสถานการณ์ความซบเซาของเศรษฐกิจยังคงลากยาวออกไป แม้ผู้ประกอบการหลายรายจะพยายามประคับประคองธุรกิจไว้และยังไม่เลิกจ้างแรงงาน แต่ใช้วิธีลดเวลาการทำงานแทน สุดท้ายธุรกิจอาจต้องตัดสินใจปิดตัวลงและเลิกจ้างในที่สุด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะกระตุ้นกำลังซื้อในภาวะที่การจ้างงานและรายได้มีความไม่แน่นอนสูงทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานเอง

2) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้มาตรการต่าง ๆ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเดิมที่ตั้งใจจะใช้อยู่แล้ว (Existing demand) เพียงเลื่อนช่วงเวลาการใช้จ่ายให้อยู่ในระยะเวลาของมาตรการเพื่อรับสิทธิประโยชน์เท่านั้น ส่วนหนึ่งจากความระมัดระวังการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ใหม่ได้ไม่มากนัก

3) ในแง่ของการกระตุ้น GDP ส่วนหนึ่งจะรั่วไหลไปกับการนำเข้าสินค้า ซึ่งไม่นับรวมอยู่ใน GDP ของไทย (Import leakage) แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายในธุรกิจค้าปลีกและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศให้กระเตื้องขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด แต่สินค้าที่ผู้บริโภคนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอาจไม่สามารถนับเป็นผลต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งจะเป็นการซื้อสินค้าราคาสูงที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย เช่น การซื้อโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น ในภาพรวม KKP Research ประเมินว่าทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้จะส่งผลให้ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.17% ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ที่ 0.54% ของ GDP จากสมมติฐานที่แตกต่างกัน