ธปท.เห็นควรดำเนินมาตรการ ป้องกันเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นควรดำเนินมาตรการป้องกันเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง หลังมีเงินทุนไหลเข้าจากการซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (16/11) ที่ระดับ 30.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/11) ที่ระดับ 30.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ดอลลาร์ยังถูกกดดันหลังจากที่นายเจอโรม พาลเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมากล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ยอดติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นทั่วสหรัฐนั้น อาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่บริษัทโมเดอร์นาอิงค์ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐ ได้แถลงข่าวในวันจันทร์ (16/1) ว่า วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ได้พัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ ในเฟสที่ 3 นั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้มากกว่าร้อยละ 94

พร้อมกันนี้ยังได้ระบุว่า วัคซีนของทางบริษัทสามารถจัดเก็บได้ในอุณหภูมิ 36-46 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิมาตรฐานของตู้เย็นที่ใช้ในครัวเรือนได้นานถึง 30 วัน นอกจากนี้หากจัดเก็บในอุณหภูมิ -4 องศาฟาเรนไฮต์จะสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 6 เดือน

สำหรับปัจจัยในประเทศค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 และเงินทุนไหลเข้าจากการซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง

ในวันจันทร์ (16/11) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ได้เปิดเผยจีดีพีไทยในไตรมาส 3/2563 หดตัว 6.4% ซึ่งติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.6% เมื่อเทียบแบบรายปี เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด และเริ่มมีการเปิดประเทศแล้วทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวได้ดีขึ้น รวมทั้งปรับคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้จะติดลบ 6% จากเดิมที่ 7.5% และปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.5-4.5%

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังได้รับปัจจัยบวกจากการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ซึ่งมี 10 ประเทศสมาชิกและคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยนับเป็นเขตการค้าที่มาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าหลังการประชุมนโบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันพุธ (18/11) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปีตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในวันศุกร์ (20/11)

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศมาตรการเพื่อลดแรงกดดันต่อภาวะแข็งค่าของเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น โดยเปิดให้คนไทยสามารถฝากเงินตราต่างประเทศและโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี เพื่อให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น

พร้อมทั้งปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยเพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิม 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

รวมทั้งกำหนดให้ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวก่อนการซื้อขาย เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกันนักลงทุนทั่วไปยังคงติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศต่อหลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เลือกไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ไอลอว์)

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.12-30.44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ 30.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (13/11) ที่ระดับ 1.1840/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/11) ที่ระดับ 1.1829/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยืนยันที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในเดือน ธ.ค. ซึ่งเศรษฐกิจของยูโรโซนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 4/2563

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป โดยนายเดวิด ฟรอสต์ หัวหน้าคณะเจรจาการค้าขของอังกฤษได้แจ้งแก่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันว่า อังกฤษกับสหภาพยุโรปอาจบรรลุข้อตกลงการค้าหลังการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ได้ในสัปดาห์หน้า หลังการเจรจาหยุดชะงักไปนานจากความเห็นที่ต่างกันในบางประเด็น

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1812-1.1893 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ 1.1863/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ที่ระดับ (16/11) ที่ระดับ 104.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/11) ที่ระดับ 105.03/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 3/2563 ซึ่งขยายตัว 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส และทำสถิติขยายตัวแข็งแกร่งสุดในรอบกว่า 40 ปี

เช่นเดียวกับยอดส่งออกของญี่ปุ่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนตุลาคมหลังจากร่วงลงไปถึง 4.9% ในเดือนกันยายน ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ยอดส่งออกของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นแตะระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้แรงหนุนจากความต้องการสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น รถยนต์

สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามรายงานระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ยอดส่งออกของญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นนั้นมาจากการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐ และจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.63-105.12 ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/11) ที่ระดับ 103.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ