ทุนนอกจ่อฮุบ “เอราวัณประกันภัย” ธุรกิจอสังหาโผล่เพิ่มทุน “สหมงคลฯ”

จับตาเทรนด์ควบรวมกิจการประกัน “เฟดเดอรัล เรียล เอสเตท” โผล่เพิ่มทุน “สหมงคลประกันภัย” ฟาก “เอราวัณประกันภัย” ทุนนอกจ่อเทกโอเวอร์ “สมาคมประกันฯ” ชี้โควิดระลอกใหม่ตัวเร่ง-ฉุดการตัดสินใจนักลงทุน หวั่นจีดีพีไตรมาสแรกซึมติดลบ

แหล่งข่าวสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศ คงจะเป็นทั้งตัวเร่งและตัวฉุดเทรนด์การควบรวมกิจการ(M&A) ของบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีหลายบริษัทที่มีการเจรจากันอยู่ ดังนั้นหากนักลงทุนมองเศรษฐกิจไทยถดถอยก็คงไม่มีใครกล้าเข้ามาซื้อ เพราะซื้อไปแล้วก็ทำธุรกิจไม่ได้ แต่ถ้าราคาขายถูกมากๆ นักลงทุนที่มีทุนหนาๆ ก็อาจสนใจเข้ามาซื้อเก็บไว้ก่อน

ทั้งนี้ต้องจับตา “สหมงคลประกันภัย” ที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนชาวจีนเข้าซื้อและให้หุ้นส่วนไทยบริหาร แต่สุดท้ายเกิดปัญหาภายในจนส่งผลให้เงินกองทุนติดลบ ทำให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) มีคำสั่งให้พิจารณางดการรับประกันภัย และให้ปรับปรุงโครงสร้างบริษัทให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.64 ซึ่งต้องรอควาบคืบหน้าว่าจะมีใครใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าการรับประกันภัยต่อเนื่องได้

ล่าสุดแหล่งข่าววงใน กล่าวว่า ทางสหมงคลประกันภัยได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการ คปภ.ว่า บริษัท เฟดเดอรัล เรียล เอสเตท กรุ๊ป ได้เข้ามาเพิ่มทุนโดยการซื้อหุ้นจำนวน 98 ล้านหุ้น ในอัตราหุ้นละ 2 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 196 ล้านบาท ทั้งนี้อยู่ระหว่างรอเม็ดเงินเข้ามาภายในวันพุธนี้ หลังจากนั้น คปภ.ต้องดำเนินการตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและขั้นตอนทางบัญชีของธนาคารต่อไป

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการประกันภัย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของ “เอราวัณประกันภัย” ที่มีรายงานว่าบริษัท CV Starr Group จะเข้ามาเทกโอเวอร์เพื่อต้องการทำธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย และได้ไปชักชวนอดีตผู้บริหารเอไอจีเข้ามาร่วมทีม แต่ยังติดปัญหาเรื่องการถือหุ้นโดยต่างชาติ 100% รวมไปถึงเอไอจีประกันภัยที่จะควบรวมกันเองกับบริษัทนิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์

นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีบริษัทประกันต่างชาติที่ถือหุ้นเกิน 50% หรือถือหุ้นเกือบ 100% จะต้องขายหุ้นออกมาตามระยะเวลาผ่อนผันของรัฐบาลไทยเมื่อครบกำหนด 10 ปี เช่น แอกซ่าประกันภัย, ซมโปะประกันภัย, โตเกียวมารีนประกันภัย ซึ่งต้องรอดูเกณฑ์การเปิดเสรีให้ถือหุ้นโดยต่างชาติ 100% ขณะนี้ทาง คปภ.ยังไม่ประกาศออกมา

“ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นบริษัทประกันขนาดใหญ่มีการควบรวมแต่งงานกัน จนกระทั่งไซซ์ใหญ่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ไซซ์กลางก็จะเล็กลง และไซซ์เล็กก็มีขนาดหดลงต่อเนื่อง จากในอดีตมี 77 บริษัท แต่เมื่อปีที่แล้วเหลือแค่ 56 บริษัท” แหล่งข่าวกล่าว

ปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยขนาดใหญ่ที่มีเบี้ยประกันมากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 13 บริษัท กินส่วนแบ่งตลาดไปกว่า 70% บริษัทขนาดกลางที่มีเบี้ยประกัน 1,000-5,000 ล้านบาท มีจำนวน 21 บริษัท ครองมาร์เก็ตแชร์ 27% และบริษัทขนาดเล็ก มีจำนวน 23 บริษัท มีมาร์เก็ตแชร์ 3%

คิดเป็นค่าเฉลี่ยเบี้ยประกันของบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ 13,142 ล้านบาท บริษัทขนาดกลางอยู่ที่ 3,138 ล้านบาท และบริษัทขนาดเล็กอยู่ที่ 318 ล้านบาท ซึ่งถือว่าบริษัทขนาดเล็กมีไซซ์เล็กกว่าบริษัทไซซ์ใหญ่ถึง 41 เท่า

อย่างไรก็ตามพอร์ตธุรกิจประกันรถยนต์ยังเป็นเจ้าตลาด แต่ที่มาแรงคือประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

ทั้งนี้ แหล่งข่าวประเมินภาพเศรษฐกิจไทยปี 64 ว่า ช่วงไตรมาสแรกคาดว่าจีดีพีน่าจะซึมติดลบ และคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดว่าจะลากยาวไปถึงไตรมาส 2-3 หรือไม่ เนื่องจากธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจตามน้ำ ถ้ามีการทำกิจกรรมต่างๆ ได้ก็จะมีการทำประกันภัยเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีก็คงแย่เหมือนๆ กัน

“เมื่อปีที่แล้วธุรกิจประกันถือว่าโชคดีขายประกันโควิดได้ แต่บางบริษัทก็แย่จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป เช่น เอ็มเอสไอจี, ทูนประกันภัย ผลประกอบการถึงขั้นติดลบ และปีนี้ที่คาดนักท่องเที่ยวจะเข้ามาไทยสัก 10-20 ล้านคน ไม่มาอีกก็แย่กันไปหมด โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ที่ไม่มีเงินมาจ่ายค่าเบี้ย” แหล่งข่าวกล่าว