“เมืองไทย” มั่นใจเบี้ยใหม่โต 10% หักดิบไม่ขายประกันออมทรัพย์

“เมืองไทยประกันชีวิต” หักดิบไม่ขายประกันออมทรัพย์ โฟกัส “สุขภาพ-โรคร้ายแรง” ไม่สนใจมาร์เก็ตแชร์ คาดปีนี้พอร์ตประกันสุขภาพโต 35% มั่นใจหนุนเบี้ยใหม่พลิกบวกโต 8-10% เป็นปีแรก “สาระ” ย้ำอีก 2 ปีเบี้ยรับรวมฟื้น หลังติดปัญหากรมธรรม์ที่ครบกำหนดแต่ยังมีผลคุ้มครองอยู่ ฟาก “ซีเอฟโอ” คาดปี’64 ยีลด์ลงทุนลดลงจาก 4.1% ตามเทรนด์ดอกเบี้ยโลกต่ำ-พันธบัตรในพอร์ตครบกำหนด

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (mtl) กล่าวในงานแถลงข่าวภาพรวมธุรกิจปี 2563 และแผนธุรกิจประจำปี 2564 ผ่านระบบ ZOOM ว่า ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่มีความท้าทายมากสำหรับทุกธุรกิจที่ต้องเผชิญผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่สำหรับธุรกิจประกันชีวิตเองก่อนหน้านั้นถูกผลกระทบมาก่อนแล้ว จากทั้งภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก เส้นผลตอบแทน (Yield Curve) ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดต่ำลงกว่า 1% ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตโดยตรง

ขณะเดียวกันยังถูกดิสรัปต์จาก Globalization หรือการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีความไม่แน่นอน และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้ง, น้ำท่วม เป็นต้น

นอกจากนี้กฎหมายใหม่ ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลของไทย (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.) อาทิ กรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 (RBC2), มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ (เริ่มใช้เดือน พ.ย. 2564), มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS17) ซึ่งจะบังคับใช้ปี 2567 ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่บริษัทประกันต้องเตรียมตัวในการเซ็ตอัพระบบรองรับ และต้องใช้เงินลงทุนสูงมากในขณะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ถูกกระทบหนักจากการระบาดโควิด

“หักดิบ” ไม่ขายประกันออมทรัพย์ โฟกัส “สุขภาพ-โรคร้ายแรง”

ทั้งนี้เมืองไทยประกันชีวิตก็ได้เริ่มปรับตัว ตัดสินใจ “หักดิบ” ปรับพอร์ตฟอริโอใหม่ สินค้าที่มีความละเอียดอ่อนกับอัตราดอกเบี้ยจะลดสัดส่วนลงมาเพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยได้ “ลดทอน” สินค้าประกันออมทรัพย์ โฟกัสเทรนด์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health&Ci) และสินค้าความคุ้มครองชีวิต (Protection) เป็นหลัก แต่บางแบบของประกันออมทรัพย์ก็ยังขายได้

โดยในปี 63 บริษัทมีพอร์ตสินค้า (Product Mix) แยกออกเป็น 1.สินค้าความคุ้มครองชีวิตและประกันชีวิตควบการลงทุน (Protection&Investment) สัดส่วน 76% คาดว่าในปี 64 จะรักษาสัดส่วนนี้อยู่ในระดับ 70% โดยจะเพิ่มสัญญาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงมากยิ่งขึ้น

2.สินค้าประกันออมทรัพย์ (Endowment) สัดส่วน 24% ถือว่าเป็นพอร์ตบริษัทประกันที่ขายประกันออมทรัพย์น้อยที่สุดในอุตสาหกรรมฯ ทั้งนี้ประมาณ 4% ของพอร์ตประกันออมทรัพย์ แยกเป็นสินค้าประเภท Index-Linked (มีผลกระทบน้อยกับเส้นผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ย)

“7 ปีที่ผ่านมาในอุตสาหกรรมประกันชีวิตสนุกสนานกับการขายประกันออมทรัพย์ แต่วันนี้เราต้องหักดิบ ไม่ขายสินค้าเหล่านั้นมาก เพื่อให้บริษัทมีความยั่งยืน แต่อย่างไรก็ดียังเชื่อว่าสินค้าประเภทนี้จะไม่หายไป แต่จะกลายเป็นสินค้าแบบ participating policy หรือกรมธรรม์ชนิดมีเงินปันผล ซึ่งจะจ่ายให้ผู้เอาประกันเมื่อบริษัทมีกำไร” นายสาระกล่าว

“เมืองไทย” ตั้งเป้าปี’64 เบี้ยใหม่พลิกบวกโต 10% เบี้ยรวมอีก 2 ปีฟื้น

สำหรับในปี 64 นายสาระกล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันรับรายใหม่ (New Business Premium) จะเติบโต 8-10% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะเป็นปีแรกที่บริษัทจะกลับมาเป็นบวกหลังจากติดลบมา 2 ปี (ปี 62-63) ในขณะที่เบี้ยประกันปีต่อไป (Renewal Year Premium) จะยังคงติดลบจากจำนวนกรมธรรม์ที่ครบกำหนดซึ่งมีผลความคุ้มครองอยู่ตามเงื่อนไข

ส่งผลให้เบี้ยประกันชีวิตรับรวมของบริษัทยังเป็นภาพการติดลบ อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าภายใน 2 ปี หรือในปี 2566 ภาพของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมจะกลับมาเป็นบวกได้ จากการที่บริษัทดำเนินการปรับพอร์ตฟอริโอตามแผน ซึ่งจะไปสอดคล้องกับการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS17) พอดี และเชื่อว่าส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) จะดีดกลับขึ้นมาเช่นกัน

คาดปี’64 ยีลด์ลงทุนลดลง รับดอกเบี้ยโลกต่ำ

นางสิริลักษณ์ รัตนไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน mtl กล่าวว่า ในปี 63 ถือเป็นปีที่ยากลำบากมากจากผลกระทบโควิด โดยผลตอบแทน (ยีลด์) จากการลงทุนของบริษัทอยู่ที่ 4.1% โดยพอร์ตหลักเน้นลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งรุ่นอายุ 10 ปี ยีลด์วิ่งอยู่ระหว่าง 0.8-1.7% เฉลี่ยอยู่แค่ 1.3-1.4% ซึ่งค่อนข้างต่ำ ทำให้โปรดักต์ประกันออมทรัพย์ที่ขายก็ไม่ควรโฟกัส แต่ทั้งนี้จากผลตอบแทนหากเทียบในตลาดก็ถือว่ายังพอแข่งขันได้ อยู่ในระดับที่พอใจ

ทั้งนี้สำหรับปี 64 ทิศทางดอกเบี้ยโลกยังต้องติดตามอยู่ เนื่องจากบริษัทไม่ได้ลงทุนเฉพาะตราสารในประเทศไทยเท่านั้น แต่ลงทุนทั่วโลก ฉะนั้นต้องมอนิเตอร์ประเทศมหาอำนาจใหญ่ ๆ ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร แต่โดยทั่วไปในพอร์ตฟอริโอขนาด 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งในอดีตต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนซื้อมามีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าที่หาได้ในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากมีตราสารหนี้ตัวไหนที่ครบกำหนดไป ก็มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะลงทุนได้ต่ำกว่าเดิม เพราะฉะนั้นในปีนี้คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนในพอร์ตจะมีการปรับลดลงเล็กน้อย เป็นไปตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลก

สแกนเรดาร์หาทำเล ลงทุนอสังหาฯ โปรเจ็กซ์ใหม่

นายสาระกล่าวถึงแผนลงทุนอสังหาริมทรัพย์ฯ ว่า แผนการลงทุนสร้างอาคารให้เช่า (66 tower) จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/64 นี้ ซึ่งจากการระบาดโควิดค่อนข้างโชคดีที่ทำให้บริษัทสามารถได้คุยกับที่ปรึกษาโครงการ ในการปรับแต่งการเช่ารองรับกับสถานการณ์โควิด รวมถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ขณะเดียวกันก็ยังเดินแผนในการค้นหาทำเลในการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษา ส่วนอาคารภัทรในช่วงที่ผ่านมาก็ยังมีอัตราการให้เช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) มากกว่า 90%

ตั้งเป้าเบี้ยสุขภาพโรคร้ายโต 35% ส่งสุขภาพเหมาจ่ายคลุมทุก Gen แข่งตลาด

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของสินค้าประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงปีนี้จะเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เติบโต 21% ในขณะที่การขายประกันผ่านออนไลน์ (Online Sales Growth) จะเติบโต 100% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เติบโต 120%

นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวโครงการ “Super Health” ประกันสุขภาพเหมาจ่ายตอบโจทย์ความต้องการในทุกเซกเมนต์ ดูแลค่าใช้จ่ายตั้งแต่บาทแรกหรือแบบที่ช่วยดูแลค่ารักษาส่วนเกินจากสวัสดิการเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงสามารถเลือกความคุ้มครองแบบผู้ป่วยนอก (OPD) แบบผู้ป่วยใน (IPD) หรือเลือกความคุ้มครองได้ทั้ง 2 แบบ

โดยล่าสุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “โครงการ ดี คิดส์ (D Kids Campaign)” เด่นด้วยความคุ้มครองที่คอยช่วยดูแลค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ให้ความคุ้มครองค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน ค่าห้องผู้ป่วยหนัก (ไอ.ซี.ยู.) ค่าหมอ ค่ายา ค่าตรวจ ค่าผ่าตัด ค่ารักษาพยาบาลกรณีแอดมิดเหมาจ่ายในวงเงินเดียวสูงสุดถึง 5 ล้านบาทต่อการเข้าพักรักษาตัวครั้งใดครั้งหนึ่ง


คุ้มครองตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มสมัครได้ตั้งแต่อายุ 30 วัน ดูแลกันยาวให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี นอกจากนี้ยังได้ขยายอายุรับประกันภัยสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพแบบ อีลิท เฮลท์ เพื่อให้การดูแลแบบเหนือระดับ ครอบคลุมไปยังกลุ่มเด็กมากยิ่งขึ้น จากเดิมอายุรับประกันอยู่ที่ 18-80 ปี ขยายเป็นเริ่มรับประกันตั้งแต่อายุ 11-80 ปี พร้อมอุ่นใจได้ยาว คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี คุ้มครองสุขภาพทั้งโรคระบาด โรคร้ายแรง โรคทั่วไป และอุบัติเหตุ แบบจ่ายตามจริง 20 – 100 ล้านบาทต่อปี สำหรับผู้เอาประกันภัยอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติม ค่าเตียงเสริมสำหรับพ่อหรือแม่สำหรับการมาเฝ้าไข้ลูก 5,000 บาท/วัน