ชงครม.โยกเงินกู้จ่ายประกันสังคม ม.33 “แผนเยียวยา”หมดเก๊ะ-รัฐเกลี่ยงบอุตลุด

แจกเงินประกันสังคม ม.33

รัฐบาลโยกเงินกู้ฟื้นฟูอีก 4 หมื่นล้านบาท จ่ายเยียวยา “ม.33 เรารักกัน” จากที่ก่อนหน้านี้โยกมาแล้ว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่าย “เราชนะ” เผยสภาพัฒน์ชง ครม. เร็ว ๆนี้ พร้อมเร่งดึงเงินกู้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ที่อนุมัติไปแล้วแต่ยังไม่ใช้คืน ตุนหน้าตักไว้รับมือสถานการณ์โควิดที่ยังไม่แน่นอน หลัง “รมว.สาธารณสุข” ขยับตารางเริ่มฉีดวัคซีนคนไทยเป็นเดือน มิ.ย. จากเดิม ก.พ.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่ต้องใช้เงินงบประมาณราว 4 หมื่นล้านบาทนั้น จะใช้แหล่งเงินจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งยืนยันว่า ยังมีวงเงินที่สามารถใช้สำหรับจ่ายเยียวยาได้อยู่

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ใช้งบฯจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก็จะต้องผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่ง พ.ร.ก.กู้เงินยังมีวงเงินเหลือพอรองรับมาตรการดังกล่าว แม้ว่าที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติวงเงินไปแล้วกว่า 700,000 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็มีการยืดวงเงินคืนจากโครงการทีอนุมัติให้ใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.ไปแล้ว แต่ยังไม่ใช้

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 22 ม.ค. 2564 ครม.ได้อนุมัติวงเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไปแล้ว 711,607 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.แผนงานด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 19,698 ล้านบาท ซึ่งตั้งเบิกไปแล้ว 1,561 ล้านบาท 2.แผนงานเยียวยา 565,000 ล้านบาท หลังมีการโอนมาจากแผนงานฟื้นฟูฯ 10,000 ล้านบาท ได้อนุมัติไปแล้ว 558,753 ล้านบาท ตั้งเบิกแล้ว 322,819 ล้านบาท เหลือ 210,200 ล้านบาท ซึ่งจะใช้จ่ายเยียวยา “เราชนะ” และ 3.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 390,000 ล้านบาท อนุมัติวงเงินไปแล้ว133,159 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 48,998 ล้านบาท ยังเหลือกรอบวงเงินที่กู้ได้อีก 256,841 ล้านบาท

ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า สศช.จะมีการเสนอ ครม. อนุมัติปรับโยกเงินกู้จากแผนฟื้นฟูฯ มาใช้จ่ายเยียวยา “ม.33 เรารักกัน” อีก 40,000 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ ได้โยกวงเงินมา 10,000 ล้านบาทแล้วเพื่อจ่ายเยียวยา “เราชนะ” โดยปัจจุบันวงเงินกู้ตามแผนฟื้นฟูฯยังเหลือกว่า 200,000 ล้านบาท หากจำเป็นต้องเยียวยาเพิ่มเติม ก็สามารถโยกวงเงินมาได้

“ทาง สศช.จะพิจารณาโครงการตามแผนฟื้นฟูฯ ที่ได้รับอนุมัติวงเงินไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท หากโครงการใดดำเนินการล่าช้า หรือยังไม่เริ่ม ก็จะดึงเงินกลับมา เพื่อให้มีเงินเหลือเตรียมไว้รับมือความไม่แน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ระบุว่า คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในไทยได้ราวเดือน มิ.ย. 2564 ขยับไปจากเดิมที่เคยคาดไว้ในเดือน ก.พ.

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ได้กู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ไปแล้ว4.8 แสนล้านบาท โดยช่วงนี้กำลังดำเนินการกู้เงินสำหรับ “เราชนะ” ที่ต้องใช้เงินรวม 210,000 ล้านบาท โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งออกพันธบัตรออมทรัพย์วอลเลต สบม. วงเงิน 5,000 ล้านบาทไป หลังจากช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ไปแล้วกว่า 80,000 ล้านบาท

และเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ก็ได้เปิดประมูลพันธบัตรรัฐบาลอีก 30,000 ล้านบาท ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมาก็ได้เปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่นเราชนะ วงเงิน 55,000 ล้านบาท จากนั้นในวันที่ 10 ก.พ.นี้ก็จะเปิดประมูลพันธบัตรรัฐบาลอีก 30,000 ล้านบาท

“ตอนนี้เราเตรียมกู้เงินในหลาย ๆ เครื่องมือ เพื่อมารองรับโครงการเราชนะ เพราะใช้เงินกว่า 210,000 ล้านบาท ซึ่งจะพยายามใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน โดยที่ผ่านมาก็มีทั้งการออกตั๋ว P/N พันธบัตรออมทรัพย์ และเร็ว ๆ นี้จะเปิดประมูลพันธบัตรรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินเพียงพอ เราเตรียมแผนกู้เงินไว้ทั้งหมดแล้ว ดังนั้น ก็จะมีเงินจ่ายได้ครบ” นางแพตริเซียกล่าว