“ทริส” จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ “KKP” วงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาท “A” แนวโน้ม “Stable”

“ทริสเรทติ้ง” จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ “KKP” วงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาท ที่ระดับ “A” แนวโน้ม “Stable”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทริสเรทติ้ง ได้ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ “A” และหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ ในวงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาทของธนาคารที่ระดับ “A” ด้วย

โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงแหล่งรายได้ที่หลากหลายของธนาคารและการผสมผสานที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างธุรกิจตลาดทุนที่มีชื่อเสียงและธุรกิจธนาคารพาณิชย์ อันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานะเงินกองทุนที่เพียงพอและความสามารถในการทำกำไรที่ดี อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกจำกัดโดยขนาดของธนาคารพาณิชย์ที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และสถานะเงินทุนที่อ่อนแอกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าธนาคารจะรักษาสถานะเงินกองทุนที่ระดับเพียงพอ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคาร (CET-1) ที่ประมาณ 14.8%-15.3% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เงินกองทุนที่ระดับเพียงพอนี้ได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลาง ความสามารถในการทำกำไรที่ดี และนโยบายการบริหารเงินกองทุนที่รอบคอบ อัตราส่วน CET-1 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 14.6% สูงกว่า ณ สิ้นปี 2562 เล็กน้อยที่ 13.6% ณ ช่วงเวลาเดียวกัน CET-1 คิดเป็น 76.9% ของเงินกองทุนทั้งหมด ซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพของเงินกองทุนที่ระดับเฉลี่ย

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ผลประกอบการของธนาคารน่าจะยังคงได้รับประโยชน์จากความหลากหลายของสายธุรกิจ ธนาคารสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่เหนือกว่าคู่แข่งในปี 2563 จากการเติบโตของตลาดทุน การเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง การประหยัดต้นทุนเงินทุน และผลตอบแทนที่ดีจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแหล่งรายได้ที่หลากหลายของธนาคาร ซึ่งน่าจะช่วยประคับประคองธนาคารได้ดีในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

กำไรของธนาคารในปี 2563 ลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ลดลงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROA) ของธนาคารลดลงเหลือ 1.52% ในปี 2563 จาก 1.94% ในปี 2562 แต่ยังคงดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 0.92% ในปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของธนาคารจะค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลาง การลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) และการประหยัดต้นทุนเงินทุนอย่างต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจะปรับตัวอ่อนแอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถจัดการได้ภายหลังจากมาตรการบรรเทาหนี้สิ้นสุดลง สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง) ลดลงเหลือ 2.9% จาก 4.0% ณ สิ้นปี 2562 สาเหตุหลักมาจากการยกเว้นกฎเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ตามประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการบริหารคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกของธนาคาร

ในขณะเดียวกันอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 170.7% จาก 110.8% ณ สิ้นปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดการณ์อัตราสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง) ของธนาคารจะอยู่ที่ประมาณ 3.0-3.8% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และคาดว่าธนาคารจะยังคงตั้งสำรองอย่างรอบคอบที่ระดับสูงในปี 2564 เนื่องจากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่ท้าทาย

สถานะเงินทุนของธนาคารยังคงอ่อนแอกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นกับสถานะเงินทุนของธนาคารจากการที่ธนาคารมีความก้าวหน้าที่ดีในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนเงินทุนให้มีสัดส่วนเงินฝากมากขึ้น ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนเงินฝากของลูกค้าต่อแหล่งเงินทุนรวมของธนาคารปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 79.4% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account and Savings Account – CASA) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสู่ระดับ 52.5% จาก 37.5% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในธนาคารขนาดเล็กด้วยกัน

การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของธนาคารในการเพิ่มบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ จากการเปิดตัวบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเงินฝากประจำ (KK Phatra Smart Settlement — KKPSS) สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ผลิตภัณฑ์เงินฝาก CASA สำหรับองค์กรและบริการบริหารเงินสดให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ

ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าธนาคารเกียรตินาคินภัทรจะยังคงเพิ่มความแข็งแกร่งของเงินกองทุน รวมทั้งคุณภาพสินทรัพย์และได้รับผลประโยชน์จากการผสานพลังกับธุรกิจตลาดทุนและธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของธนาคารให้มากขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น


ส่วนปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลงนั้น การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารเกียรตินาคินภัทรในการขยายธุรกิจธนาคารพาณิชย์และ/หรือเพิ่มความสามารถในการระดมเงินจากแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงได้ อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากเงินกองทุน รวมไปถึงคุณภาพสินทรัพย์ หรือสภาพคล่องของธนาคารอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ หากความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญอันเนื่องมาจากการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลง หรือมีรายการขาดทุนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้คาดหมายจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนก็อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงได้เช่นกัน