ครม.เคาะเกณฑ์ซอฟต์โลน-โกดังพักหนี้ 3.5 แสนล้าน ขยายอุ้ม SME-รายใหญ่

เงินบาท-ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

คลัง-แบงก์ชาติเดินหน้า “โกดังพักหนี้-ซอฟต์โลนภาค 2” ชงร่าง พ.ร.ก.สินเชื่อฉบับใหม่ 3.5 แสนล้านเข้า ครม. 23 มี.ค. ปลดล็อกเพิ่มวงเงินปล่อยกู้พยุงจ้างงาน-เสริมสภาพคล่องธุรกิจใหญ่ ขยายเพดานกู้ 150 ล้านต่อบริษัท เพิ่มชดเชยความเสียหายหนี้เสียให้แบงก์ ธปท.เรียกแบงก์-บสย.-สรรพากร ซักซ้อมความเข้าใจ “ทีเอ็มบี” เผยซอฟต์โลนตั้งชื่อใหม่ “สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ตอบโจทย์โควิด-19 ลากยาว-แก้ปมแบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวบนเวทีสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” ของประชาชาติธุรกิจเมื่อ 17 มีนาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงการคลังและ ธปท.ได้หารือร่วมกันในการที่จะมีการดำเนินนโยบายการเงินที่เจาะจงมากขึ้น โดยมีการจัดทำ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ ซึ่งจะขยายการช่วยเหลือไปถึงธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าเอสเอ็มอี อย่างเช่น ภาคธุรกิจโรงแรม ที่จะเป็นการให้สินเชื่อใหม่ เชื่อมโยงไปกับโครงการโกดังพักหนี้ เพื่อให้ธุรกิจที่เดินต่อไม่ได้ โอนทรัพย์เก็บไว้ที่โกดังก่อน เมื่อมีความสามารถก็ให้กลับมาซื้อคืนในราคายุติธรรม

ซอฟต์โลนภาค 2 เข้า ครม.

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ “ซอฟต์โลนภาค 2” เสร็จเรียบร้อย และได้เสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันที่ 23 มีนาคมนี้

ทั้งนี้เป็นการเสนอร่าง พ.ร.ก.ฉบับใหม่เลย เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนหลักการและสาระสำคัญจากฉบับเดิม เพราะซอฟต์โลนภาค 1 ถูกออกแบบภายใต้สมมุติฐานโควิด-19 มาเร็วไปเร็ว แต่ปรากฏว่าการระบาดของโควิด-19 ลากยาว ปัญหายืดเยื้อ ทำให้เงื่อนไขที่ดีไซน์ไว้ไม่สอดคล้องกับปัญหา รวมถึงข้อจำกัด และการชดเชยความเสียหายต่ำ ทำให้แบงก์ก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ

ดังนั้นโครงการซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทของ ธปท. จนถึง (15 มี.ค. 2564) มีการอนุมัติสินเชื่อไปเพียง 1.33 แสนล้านบาท ผู้ได้รับซอฟต์โลน 7.67 หมื่นราย เฉลี่ยวงเงินรายละ 1.73 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กมาก

ปลดล็อกพยุงรายใหญ่

แหล่งข่าวกล่าวว่า พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ จะกำหนดวงเงิน 350,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการตัดวงเงินที่เหลือจากซอฟต์โลนฉบับเดิม แต่จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนของ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” ให้กับผู้ประกอบการวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และในส่วนมาตรการ “โกดังพักหนี้” (asset warehousing) วงเงิน 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้หลักการสำคัญของ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนภาค 2 คือ ขยายกรอบความช่วยเหลือไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่มากขึ้น จากซอฟต์โลนเดิมที่เน้นการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเงื่อนไขเดิมผู้ประกอบการที่จะได้รับความช่วยเหลือ หากเป็น “กลุ่มบริษัท” เจ้าของเดียวกันต้องวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีสิทธิได้เงินไม่เกิน 20% ของ “สินเชื่อคงค้าง”

แต่ซอฟต์โลนภาค 2 จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาได้มากขึ้น โดยกำหนดคุณสมบัติต้องเป็นบริษัทที่ได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทเช่นเดิม แต่จะพิจารณาแยกรายนิติบุคคล แม้ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับอนุมัติวงเงินก็จะเพิ่มเป็น 30% ของวงเงินสินเชื่อ (ไม่เกิน 500 ล้านบาท) หมายความแต่ละนิติบุคคลจะมีสิทธิได้รับซอฟต์โลนถึง 150 ล้านบาท ซึ่งในกรณีที่กลุ่มบริษัทหรือเจ้าของเดียวกันมีโรงแรม 3 แห่ง ใน 3 จังหวัดก็อาจจะได้รับวงเงินกู้ช่วยเหลือตรงสูงถึง 450 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขอื่น ๆ ด้วย

ปิดทางบริษัทใน SET

“ซอฟต์โลนภาค 2 ไม่ได้จำกัดผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือแค่เอสเอ็มอี เพราะมองว่าปัญหา ส่งผลกระทบจากโควิดถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วย ซึ่งจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับแผนธุรกิจและพยุงการจ้างงาน ดังนั้นการออกแบบให้สอดคล้องกับแนวทางแก้ปัญหา รวมถึงไม่ได้จำกัดแค่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเท่านั้น

อย่างไรก็ดี จะต้องมีการออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น กลุ่มบริษัทเดียวกันจะได้รับซอฟต์โลนรวมมูลค่าไม่เกินเท่าไหร่ หรือกำหนดจำนวนบริษัทที่อยู่ภายใต้เจ้าของเดียวกันที่จะมีสิทธิขอซอฟต์โลนไม่เกิน 3 นิติบุุคคล เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาใช้สิทธิ จนทำให้รายเล็กไม่ได้รับโอกาส รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะไม่มีสิทธิในการยื่นขอซอฟต์โลน เพราะมีช่องทางในตลาดทุนอยู่แล้ว กรณีผู้ประกอบการที่ไม่ได้เคยใช้บริการสินเชื่อแบงก์ ก็จะได้รับสิทธิเข้าถึงซอฟต์โลนใหม่นี้ด้วย แต่จำกัดเพดานไม่เกิน 20 ล้านบาท

อุ้มแบงก์เพิ่มชดเชย “หนี้เสีย”

แหล่งข่าวกล่าวว่า เงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดก็จะต้องสนับสนุนให้แบงก์กล้าปล่อยกู้ด้วย เพราะปัญหาซอฟต์โลนเดิม คือ แบงก์มองว่าความเสี่ยงสูงจึงไม่ปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นซอฟต์โลนภาค 2 นี้จึงต้องจูงใจให้แบงก์กล้าปล่อยกู้มากขึ้น อาทิ การกำหนดเพดานดอกเบี้ยซอฟต์โลนจากเดิม 2% ปรับเพิ่มเป็นไม่เกิน 5% รวมถึงการชดเชยความเสียหายกรณีเป็นหนี้เสียซึ่งเงื่อนไขเดิมแบงก์จะได้รับชดเชยไม่ถึง 30% ของมูลค่า ดังนั้นในครั้งก็จะมีการปรับเงื่อนไขการชดเชยให้จูงใจมากขึ้น โดยดึงทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือในการชดเชยกรณีกลายเป็นหนี้เสีย

“โกดังพักหนี้” สกัดนายทุนฮุบ

สำหรับมาตรการโกดังพักหนี้ (asset warehousing) วงเงิน 1 แสนล้านบาท แหล่งข่าวกล่าวว่า ถือเป็นอีกเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้ต้องการสินเชื่อหรือก่อหนี้เพิ่ม แต่ต้องการพักหนี้เพราะธุรกิจยังไปต่อไม่ได้ เช่นโรงแรมที่ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จึงเป็นโมเดล “แช่แข็งหนี้” ระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งจะเป็นกลไกช่วยให้เจ้าของธุรกิจ ยังมีโอกาสรักษาทรัพย์สินไว้ ไม่ถูกกลุ่มทุนไทยหรือต่างชาติเข้ามาบีบต้องขายไปในราคาถูก ๆ หรือถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

โดยวิธีการก็ต้องตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ให้แบงก์ไปในราคาไม่เกิน 80% ของมูลค่าหลักประกัน พร้อมสัญญาให้เจ้าของเดิมซื้อคืนภายใน 5 ปี ซึ่ง ธปท.จะมีกฎหมายลูกกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงเพดานราคาซื้อคืนว่าจะไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาตีโอน เพื่อช่วยให้เจ้าของเดิมสามารถซื้อกลับคืนได้ในราคาไม่สูง ขณะเดียวกันระหว่างอยู่ในโกดังพักหนี้ เจ้าของเดิมก็จ่ายเป็นค่าเช่าราคาถูกให้กับแบงก์เพื่อนำทรัพย์สินมาหารายได้

โครงการนี้นอกจากเป็นประโยชน์กับลูกหนี้แล้ว ก็เป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงินด้วย ที่จะช่วยป้องกันและดูแลไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสียตามมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแบงก์จะมีภาระแบกรับการตีโอนทรัพย์สินมาอยู่ในบัญชีธนาคาร โดยไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ตามที่ควรจะเป็น ดังนั้นแบงก์ชาติก็จะมีการสนับสนุนเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับแบงก์เพื่อชดเชยกับการรับหนี้เข้ามาไว้ในโกดัง

ยกเว้นภาษีทั้งลูกหนี้-เจ้าหนี้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า โครงการโกดังพักหนี้จะต้องมีการยกเว้นภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกรมสรรพากรจะออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ สำหรับเงินส่วนที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ ขณะเดียวกัน ยังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ อากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินที่ได้จากการโอนทรัพย์สินด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลักการของร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่นี้ ยังอาจมีการปรับแก้ไขในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งทาง ธปท.จะมีการออกกฎหมายลูกออกมารองรับในภายหลัง ซึ่งขณะนี้หลายอย่างยังไม่มีข้อสรุป

สอดคล้องกับนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ในฐานะกรรมการสมาคมธนาคารไทย และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่ร่วมประชุมหารือกับทาง ธปท.และคลัง กล่าวว่า สินเชื่อซอฟต์โลนเดิมถูกออกแบบภายใต้สมมุติฐานโควิด-19 มาเร็วไปเร็ว แต่ปัญหาโควิด-19 ลากยาว ความต้องการจึงเปลี่ยนไป ความต้องการเงินมากขึ้น ความเสี่ยงสูงขึ้น และที่ผ่านมารัฐรับประกันความเสียหายแค่ 30% ขณะที่โอกาสเจ๊งมีสูง ทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ซอฟต์โลนภาค 2 จะเป็นการช่วยฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเดินได้ ซึ่ง พ.ร.ก.จะเปลี่ยนชื่อใหม่ด้วย อาจจะเป็น “สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” โดยคาดว่าจะเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งทาง ธปท.ก็มีการเรียกแบงก์และผู้เกี่ยวข้องประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ

ธปท.เรียกแบงก์ประชุมชี้แจง

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 23 มี.ค. ธปท.ได้มีการนัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร สมาคมธนาคารไทย (TBA) ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และ บสย. เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติภายใต้โครงการซอฟต์โลนใหม่และ “โกดังพักหนี้” หลังจากคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.ในวันเดียวกัน

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างรอความชัดเจนและเงื่อนไขมาตรการ “โกดังพักหนี้” เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลลูกค้าที่ต้องการจะเข้าโครงการดังกล่าวได้ชัดขึ้น โดยระหว่างนี้ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเบื้องต้นไปก่อนเป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่โรงแรมเรามีไม่ค่อยเยอะมาก และเริ่มมีบางกลุ่มทยอยเตรียมขอเงินกู้เพื่อไปรีบูสต์-รีสตาร์ตธุรกิจรอรับนักท่องเที่ยวแล้ว

ทั้งนี้เชื่อว่าหลังเกณฑ์เรื่องซอฟต์โลนมีความชัดเจน โดย บสย.จะเข้ามาช่วยรับความเสี่ยงมากขึ้น มองว่าธนาคารทุกแห่งน่าจะเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การปรับแก้เงื่อนไขการปล่อยซอฟต์โลน โดยการขยับเพดานวงเงินสูงขึ้นตามข่าวที่ออกมานั้น น่าจะสามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการได้กว้างและหลากหลายกลุ่มธุรกิจมากขึ้น เช่น กลุ่มสายการบิน โรงแรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนอกเหนือจากธุรกิจเอสเอ็มอี อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังคงต้องรอความชัดเจน เช่นเดียวกับการทำ “โกดังพักหนี้” ที่มีคณะทำงานของธนาคารแต่ละแห่ง และ ธปท. ร่วมประชุมหารือกันอย่างต่อเนื่อง

“หนี้เสีย” เอสเอ็มอีพุ่ง 12%

ด้านนางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ SMEsธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คาดว่าปลายเดือน มี.ค.นี้น่าจะเห็นเงื่อนไขของโครงการโกดังพักหนี้ชัดเจนขึ้น ระหว่างนี้ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มโรงแรมต่อเนื่อง ด้วยโมเดลที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาการของลูกค้าแต่ละราย ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อกลุ่มโรงแรมขนาดกลาง (ยอดขาย 75-500 ล้านบาท) มีอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีลูกค้าราว 5,000 ล้านบาทที่ขอรับความช่วยเหลือ

นางพิกุลกล่าวด้วยว่า แนวโน้มเอ็นพีแอล ในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปกติในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่กระทบรายได้และกระแสเงินสด ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง อย่างไรก็ดี ธนาคารพยายามให้ความช่วยเหลือทำให้เอ็นพีแอลไม่พุ่งขึ้นรวดเร็ว โดยสิ้นปี 2563 เอ็นพีแอลกลุ่มเอสเอ็มอีอยู่ที่ 12% ปรับเพิ่มจากปี 2562 ที่อยู่ระดับ 9-10% โดยในปีนี้จะพยายามประคองให้ไม่เกิน 12%

“เรายังบอกไม่ได้ว่าจะมีลูกค้าที่เข้าโครงการโกดังพักหนี้เท่าไร เพราะต้องรอดูเงื่อนไขชัดเจนก่อน จึงจะมีการสำรวจลูกค้า แต่หากลูกค้าไม่ต้องการเข้าโกดัง เราก็พร้อมช่วยเหลือผ่านโมเดลที่เหมาะสมกับลูกค้า เช่นเดียวกับซอฟต์โลนที่ทุกคนพยายามผลักดันออกมาเพื่อช่วยประคองเอสเอ็มอี ลดข้อจำกัดต่าง ๆ” นางพิกุลกล่าว