ก.ล.ต. แจงเหตุเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4 กอง

สำนักงาน-ก.ล.ต.

ก.ล.ต.แจงเหตุเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4 กอง พบกอง PVD “อิเซตัน (ประเทศไทย)” ยุบตามห้างฯที่เพิ่งปิดตัวในไทย 3 กองโอนย้ายไปยังกองแบบหลายนายจ้าง-หลายนโยบายลงทุน โชว์สิ้นปี’63 สมาชิกลดลง 1.59 แสนคน กองทุนเหลือ 368 กอง ลดลง 9 กอง หรือ -2.39%

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเกี่ยวกับการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/068/T_0015.PDF ซึ่งขอเรียนให้ทราบว่าในครึ่งหลังของปี 2563 ที่ผ่านมามี PVD ที่จดเลิกจำนวน 4 กอง โดยเป็นการเลิกกองเพื่อโอนย้ายไปยังกองฯ แบบ master pooled fund (แบบที่มีหลายนายจ้างและหลายนโยบายการลงทุน) จากเดิมเป็นกองแบบ single fund ที่มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว 3 กองทุน ได้แก่

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่ออนาคต ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แอมคอร์ เฟล็กซิเบิ้ล ประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว
3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งจดทะเบียนแล้ว

ทั้งนี้การโอนย้ายไปนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของนายจ้างที่ต้องการให้ลูกจ้างสมาชิก PVD มีทางเลือกมากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการจัดการกองทุน

นอกจากนี้ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการเลิกกองทุนโดยไม่มีการจัดตั้งกองทุนใหม่หรือเข้าร่วมในกองทุนหลายนายจ้าง 1 กองทุน ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อิเซตัน (ประเทศไทย) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว

ทั้งนี้ เรื่องการออกประกาศเลิกกองฯ (รวมถึงการจัดตั้งกองฯ ใหม่) เป็นเรื่องที่ ก.ล.ต.ในฐานะนายทะเบียน PVD ตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จะรวบรวมและนำมาประกาศปีละ 2 ครั้ง (กลางปีกับสิ้นปี) และจะส่งประกาศไปลงในราชกิจจานุเบกษา

อนึ่งกองทุน PVD คือกองทุนภาคสมัครใจที่มีเป้าหมายการออมระยะยาวเพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ ที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันตั้งขึ้น เป็นเงินออมที่จะมาจากส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง และจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี

โดยข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ธ.ค.63) ทั้งจำนวนนายจ้างและมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวนนายจ้าง 19,932 แห่ง เพิ่มขึ้น 513 แห่ง หรือ 2.64% จากสิ้นปี 2562 ที่มีอยู่ 19,419 แห่ง

สมาชิก 2,925,834 คน ลดลง 159,558 คน หรือ -5.45% จากสิ้นปี 2562 ที่มีอยู่ 3,085,392 คน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1,248,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,064 ล้านบาท หรือ 2.13% จากสิ้นปี 2562 ที่มีอยู่ 1,222,250 ล้านบาท

กองทุน 368 กอง ลดลง 9 กอง หรือ -2.39% จากสิ้นปี 2562 ที่มีอยู่ 377 กอง โดยนายจ้างยกเลิกกองเพื่อโอนย้ายไปเข้า master pooled fund จำนวน 9 กองทุน และนายจ้างยกเลิกกองทุน 1 กองทุน ขณะที่มีการจัดตั้งใหม่ 1 กองทุน