แบงก์รุกคืบสินทรัพย์ดิจิทัล “กรุงศรี” ถก 3 รายดึงร่วมทุน

bitcoin

แบงก์ตบเท้าลุยธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล “กรุงศรี” เร่งถก 2-3 บริษัทเตรียมร่วมทุน คาดมีความชัดเจนปลายปีนี้ รับสนใจ “utility token”กับ “asset backed” มากกว่า “บิตคอยน์” ที่เน้นแต่เก็งกำไร โดยเฉพาะ “asset backed” ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่กำลังขาขึ้น เพราะเป็นเครื่องมือระดมทุนแบบใหม่แทนการขอสินเชื่อ

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและพูดคุยกับบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ประมาณ 2-3 ราย เพื่อต่อยอดในธุรกิจของแบงก์ คาดว่าภายในปลายปี 2564 นี้น่าจะมีความชัดเจน

ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางการร่วมทุน โดยบริษัทมีความพร้อมเรื่องเงินลงทุนอยู่แล้วแต่จะไม่ได้ใช้วิธีการจัดตั้งบริษัทใหม่เหมือนกับหลาย ๆ แบงก์ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวจัดตั้งบริษัทขึ้นมาและขอใบอนุญาต (license) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

อาทิ ที่ปรึกษาและผู้จัดการเสนอขายโทเค็นดิจิทัลให้แก่นักลงทุนในตลาดแรก(ICO portal) หรือการเป็นดีลเลอร์ ธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เป็นต้น

“เราคงไม่ได้มีแยกบริษัทหรือจัดตั้งบริษัทใหม่ เพราะต้องใช้เวลา และจะต้องมี use case รวมถึงฐานลูกค้าที่จะเข้ามาใช้แล้ว แต่เราจะเน้นการลงทุนในบริษัทที่ตรงกับสิ่งที่บริษัทต้องการ โดยสามารถนำมาใช้ได้จริง และนำมาต่อยอดในธุรกิจของกรุงศรี เป็นการสร้าง ecosystem หากเขาเติบโต เราก็เติบโต ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับบริษัทที่ทำเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ 2-3 ราย”

ทั้งนี้ การลงทุนธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.bitcoin/สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวน ราคาขึ้นลงเร็ว เน้นเก็งกำไรอย่างเดียว

2.utility token/โทเคนดิจิทัล เพื่อการใช้ประโยชน์ โดยผู้ถือโทเค็นประเภทนี้จะสามารถใช้สิทธิในสินค้าและบริการ เช่น กลุ่มศิลปินวง BNK ที่ออกเหรียญโทเค็นขาย เพื่อให้ผู้ซื้อหรือแฟนคลับได้สิทธิเข้างานจับมือศิลปิน เป็นต้น

และ 3.asset backed ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน จะมีเหรียญแยกย่อย 2 ประเภท คือ เหรียญที่ราคาขึ้นลงตามดีมานด์/ซัพพลาย และเหรียญราคาคงที่ (stable coin) โดยหากผู้ประกอบการต้องการระดมทุนที่ไม่ใช่สินเชื่อก็สามารถใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือในการระดมทุน เช่น มีอาคารสำนักงานก็สามารถนำมาเป็นหลักประกัน เพื่อออกเหรียญโทเค็นมาระดมทุนได้ เป็นต้น

“จะเห็นว่าแบงก์ส่วนใหญ่จะสนใจลงทุนในกลุ่ม utility token และ asset backed เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความผันผวนน้อยและความเสี่ยงไม่สูงเมื่อเทียบกับประเภท bitcoin ที่เป็นสินทรัพย์เก็งกำไร และแม้ว่าวันนี้จะมีหลายแห่งสามารถรับชำระค่าสินค้าและบริการได้ แต่เชื่อว่าในระยะยาวไม่สามารถเป็นตัวแทนการรับชำระแทนได้ แต่เป็นเรื่องของกิมมิกทางการตลาดในระยะสั้นเท่านั้น” นายแซมกล่าว

โดยสำหรับ asset backed ขณะนี้แนวโน้มตลาดเป็นช่วงขาขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือในการระดมทุนรูปแบบใหม่ ที่ตลาดให้ความสนใจค่อนข้างมาก เนื่องจากจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะมาทดแทนการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในอนาคต แต่คงไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้

“แนวโน้มตลาดเป็นช่วงขาขึ้น และทุกคนต้องไป จะเห็นว่าพวกกองทุนต่างประเทศก็มีการลงทุน ซึ่งเป็นเครื่องมือในการระดมทุนแบบใหม่ที่แบงก์สนใจหันมาทำ ถามว่าการใช้ asset backed มีโอกาสเกิดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไหม ก็มีเหมือนการปล่อยกู้ปกติ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มี 2 แบงก์ที่จัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อประกอบธุรกิจ ICO portal คือ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์