แบงก์แก้เกม “แทรเวลการ์ด” ยอดวูบ พลิกกลยุทธ์โอนเงินต่างประเทศ

นักท่องเที่ยว
FILE PHOTO : Mladen ANTONOV / AFP

พิษโควิดกระทบท่องเที่ยวต่างประเทศ แบงก์แห่แก้เกม “แทรเวลการ์ด” ปรับฟีเจอร์กระตุ้นช็อปออนไลน์แทน หลังยอดสมัครบัตรใหม่-ยอดใช้จ่ายวูบ “กสิกรไทย” ปรับกลยุทธ์บัตร “Journey- YouTrip” กระตุ้นใช้จ่ายในประเทศ-ช็อปออนไลน์ “กรุงไทย” ขยับเพิ่มฟีเจอร์โอนเงินสกุลต่างประเทศได้

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยไม่มีการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ประเมินว่าปี 2563 ที่ผ่านมามูลค่าการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในต่างประเทศน่าจะหดตัวประมาณ 38% หรือมีมูลค่าราว 140,829 ล้านบาท

จากช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ที่เติบโตต่อเนื่อง คือปี 2560 เติบโต 4%, ปี 2561 เติบโต 14% และปี 2562 เติบโต 12% โดยก่อนโควิดมูลค่าการชำระด้วยบัตรทั้งเครดิตและเดบิตโตมาอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศมาก โดยเฉพาะการชำระด้วยบัตรเดบิตโตเร็วมาก อย่างปี 2561 โตถึง 44% ปี 2562 โต 22% ซึ่งตรงนี้รวมทั้งการรูดซื้อของในต่างประเทศและรูดซื้อของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ดี ปีที่ผ่านมาที่หดตัวหนัก ๆ เป็นบัตรเครดิตมากกว่า ส่วนบัตรเดบิตไม่ได้กระทบมาก เพราะมีช็อปออนไลน์มาช่วย

ทั้งนี้ ในช่วงที่กระแสท่องเที่ยวต่างประเทศบูม หลายสถาบันการเงินมีการออกบัตรเพื่อการท่องเที่ยวต่างประเทศ (แทรเวลการ์ด) มาแข่ง ทั้งที่เป็นบัตรเครดิตและบัตรเดบิต โดยมีการยกเว้นค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน (FX Rate) 2.5% และผลกระทบที่เกิดขึ้น แบงก์อาจจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันไปโปรโมตเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่คิด FX Rate 2.5% แทน

นางสาวศิริพร วงศ์ตรีภพ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ยอมรับว่า บัตรเดบิต-บัตรเติมเงิน สำหรับการท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากช่วงที่โควิดระบาด และธนาคารได้ปรับกลยุทธ์ไปเน้นเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์แทนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายออนไลน์เพิ่ม

อย่างไรก็ดีหากสถานการณ์ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น น่าจะทำให้ยอดการสมัครบัตรและการใช้จ่ายในต่างประเทศกลับมาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการท่องเที่ยวในต่างประเทศยังมีสูง และคาดว่าการท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับไปสู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิดได้ในปี 2567 แต่การพัฒนาวัคซีนมีความรวดเร็วจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาสู่ปกติภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

จากสถานการณ์ระบาดของโควิดส่งผลให้ภาพรวมบัตรเดบิต Journey มีจำนวนยอดสมัครบัตรใหม่และยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (spending) ในต่างประเทศลดลง แต่ในทางกลับกัน บัตรยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อทางธุรกิจ ศึกษาต่อ และอาศัยอยู่เป็นช่วงระยะเวลานาน

ปัจจุบันจำนวนบัตร Journey ของกสิกรไทย ณ สิ้นปี 2563 มีกว่า 5 หมื่นใบ มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตร 2,020 ล้านบาท หมวดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ร้านค้าเสื้อผ้า/แฟชั่น ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร สำหรับในปี 2564 ธนาคารตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรประมาณ 2,000 ล้านบาท

นางสาวศิริพรกล่าวว่า ธนาคารได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ถือบัตรให้เหมาะสมกับช่วงที่ยังเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ตามไลฟ์สไตล์ เพื่อใช้จ่ายภายในประเทศตลอดปี 2564 และมอบสิทธิประโยชน์ Miracle Lounge ให้ผู้ถือบัตรเพิ่ม 1 สิทธิฟรี ในปี 2564 รวมถึงเตรียมแผนสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น และเตรียมพร้อมที่จะมอบสิทธิประโยชน์การท่องเที่ยวต่างประเทศทันทีเมื่อสถานการณ์กลับมาสู่ภาวะปกติ

“แม้ว่าจำนวนบัตรและยอดใช้จ่ายบัตร Journey จะลดลงตามภาวะ แต่ในทางกลับกัน ยอดใช้จ่ายผ่านออนไลน์ในไตรมาส 4 ปี 2563 มีการเติบโตมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจัดโปรโมชั่นพิเศษกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งการช็อปสินค้าออนไลน์ด้วยสกุลเงินต่างประเทศด้วยอัตราแลกพิเศษผ่านร้านค้าต่างประเทศและส่วนลดร้านค้าต่าง ๆ”

นางสาวศิริพรกล่าวอีกว่า ส่วนแอปพลิเคชั่นและบัตร YouTrip หลังจากเปิดตัวเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2562 พบว่าก่อนจะมีโควิด-19 ระบาด ตลาดให้ผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมียอดสมัครเข้ามามากกว่า 1.6 หมื่นราย ในวันแรก และยังคงเติบโตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่ายอดการใช้จ่าย offline ในต่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศโซนยุโรป ซึ่งธนาคารได้ปรับตัวโดยเน้นการใช้จ่ายซื้อของต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ และจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ทั้งโซนที่ชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์และสกุลอื่น ๆ เช่น เยน ญี่ปุ่น

นายพิชิต จงสฤษดิ์หวัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างปรับฟีเจอร์บัตร Krungthai Travel Card เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยว ภายหลังจากที่มีการทยอยฉีดวัคซีนโควิดและตามแผนการเปิดประเทศของภาครัฐ

โดยนอกจากธนาคารจะมีแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วงที่ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้แล้ว ในเร็ว ๆ นี้ธนาคารจะมีบริการและฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเติมโดยจะเปิดให้ลูกค้าสามารถใช้บัตร Krungthai Travel Card โอนเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้ผ่าน Krungthai NEXT จากเดิมผู้ถือบัตรจะใช้แค่รูดซื้อสินค้าได้เพียงอย่างเดียว

“เร็ว ๆ นี้ Krungthai Travel Card จะสามารถโอนเงินได้ นอกจากนี้ธนาคารจะเพิ่มฟีเจอร์ให้บัตรเดบิตบางประเภทสามารถซื้อเงินสกุลต่างประเทศได้เหมือน travel card และสามารถผูกกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) สามารถทำธุรกรรมได้ทั้งรูดซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงโอนเงินสกุลเงินต่างประเทศได้” นายพิชิตกล่าว

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ในช่วงที่มีโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปต่างประเทศหยุดชะงักไป ธนาคารได้ปรับฟีเจอร์และเพิ่มแคมเปญในบัตรเครดิต TMB Absolute กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศแทน เน้นการสะสมและแลกคะแนนที่ง่าย ทำให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรยังคงขยายตัว


โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมเน้นจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวโดยให้สิทธิพิเศษในเรื่องไม่มีค่าธรรมเนียมในการแปลงสุกลเงินต่างประเทศ 2.5% สำหรับการใช้จ่ายในต่างประเทศเท่านั้น