“แลกเปลี่ยนเงิน” ปรับเกมสู้ ชู “อีมันนี่” ทางรอดยุคดิจิทัล

“แลกเปลี่ยนเงินตรา” ดิ้นปรับกลยุทธ์ธุรกิจสู้ “วิกฤตโควิด-ดิจิทัลดิสรัปชั่น-โมบายแบงกิ้ง” นายกสมาคมผนึกกำลังสมาชิกเพิ่มเครื่องมือใหม่ “อีมันนี่-แทรเวลการ์ด” เป็นตัวช่วยธุรกิจแข่งขันได้ สร้างโปรดักต์มาตรฐานดึงสมาชิกใช้ร่วมกัน ลุ้นเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังธุรกรรม 3 เดือนแรกปีนี้หดหนัก พร้อมเปลี่ยนชื่อสมาคมรับบทบาทใหม่ เดินหน้ายกระดับสมาชิกด้านกฎหมาย “ฟอกเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล”

พ.ต.อ.ดร.สีหนาท ประยูรรัตน์ นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) เปิดเผยว่า สมาคมกำลังอยู่ระหว่างศึกษาเกี่ยวกับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) รวมถึง “บัตรแทรเวลการ์ด” (Travel Card) ที่เป็นหลายสกุลเงิน (multicurrency) โดยศึกษาทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้คนไม่จับเงินสด และหันไปใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือโมบายแบงกิ้งมากขึ้น

“เรื่องเหล่านี้เป็นโจทย์ที่สมาคมจะต้องปรับให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เบื้องต้นสมาคมได้มีการพูดคุยและหารือร่วมกับสมาชิกที่มีอยู่กว่า 100 รายในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน โดยที่ผ่านมาเริ่มมีสมาชิกรายใหญ่บางรายได้เริ่มทำผลิตภัณฑ์นี้ไปแล้ว โดยสมาคมจะเจรจาให้มีผลิตภัณฑ์มาตรฐานที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งจะทำควบคู่กับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินผ่านเคาน์เตอร์ (physical)”

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวสมาคมพร้อมดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2564 นี้น่าจะมีความชัดเจนภายหลังจากมีสมาชิกบางรายได้รับใบอนุญาต (license) ธุรกิจโอนเงินแล้ว

พ.ต.อ.ดร.สีหนาทกล่าวอีกว่า เพื่อรองรับธุรกิจโอนเงินซึ่งจะเป็นบทบาทเพิ่มเติมของสมาคม จึงเตรียมเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและบริการทางการเงิน หรือ Thai Association of Foreign Exchange And Money Service” ด้วย
แลกเปลี่ยนเงิน/ต่อจากหน้า 12

“หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 และการถูก disruption จากเทคโนโลยี เราจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการทำธุรกิจ โดยจะส่งเสริมให้สมาชิกหันมาใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์มาเสริมการทำธุรกิจควบคู่กับการรับซื้อและขายสกุลเงินต่างประเทศหน้าเคาน์เตอร์ รองรับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์บริการด้วยต้นทุนถูก และยังเพิ่มฐานร้านค้าและขยายฐานลูกค้าได้อีกด้วย”

สำหรับแนวโน้มปริมาณธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ พ.ต.อ.ดร.สีหนาทกล่าวว่า ปริมาณธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ลดลง โดยจากเดิมเฉลี่ย 100 รายการ ปัจจุบันเหลือราว 10 รายการ โดยธุรกรรมส่วนใหญ่จะเห็นคนนำเงินสดที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศที่เก็บไว้นำมาแลกบ้าง เนื่องจากไม่ได้เดินทางเป็นเวลานาน เพราะหากบางประเทศมีการเปลี่ยนแปลงธนบัตรก็จะไม่เสียโอกาสแลกเงินคืน

โดยในช่วงจังหวะที่รอการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวกลับมา สมาคมจะใช้โอกาสนี้ในการปรับวิกฤตเป็นโอกาส โดยได้เตรียมโครงการ 2-3 เรื่องเพื่อยกระดับสมาชิกให้มีประสิทธิภาพนอกจากการปรับกลยุทธ์หันมาใช้อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ 1.การอบรมให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงิน เรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งสมาชิกบางรายอาจจะปฏิบัติไม่ครบถ้วน โดยตั้งเป้าภายในปี 2565 ทุกรายจะปฏิบัติได้ครบถ้วน

2.โครงการความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2564 นี้ สมาคมจะจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการสมาชิก เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าหากทำธุรกรรมแล้วข้อมูลจะถูกเก็บรักษาอย่างดี และ 3.ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการยังต้องลงทุนเพิ่มเติมทำระบบการเปิดเผยข้อมูลและผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อมูลของลูกค้า หรือทำ CDD (customer due diligence) เพื่อดำเนินตามมาตรการทางการเงิน (FATF)

“ตอนนี้ขอแต่งตัวให้สมาชิกมีความพร้อม สามารถรองรับเศรษฐกิจและลูกค้าปริมาณมากได้ เมื่อเศรษฐกิจมา ลูกค้ามี และเราจะมีมาตรการให้ความมั่นใจลูกค้าต่างชาติ เพราะอนาคตเราจะมี PDPA Certify by TAFEX และ AMLCertify by TAFEX ในปี 2565 รวมถึงจะทำให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่เป็นสมาชิกเข้ามาเป็นสมาชิกกับเรามากขึ้นด้วย”

นายสมชาย พิพัฒนนันท์ อดีตนายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกล่าวว่า ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศต้องเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ รวมทั้งไอที เพราะแนวโน้มการท่องเที่ยวต่อไประบบไอทีจะเข้ามามีส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหรือให้บริการ โดยประเมินว่าภายในปี 2566 จึงจะเห็นภาพของจำนวนนักท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว