ทำความรู้จัก “ธนบัตรพอลิเมอร์” ดีอย่างไร ธปท. มีคำตอบ

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความ เรื่อง ธนบัตรพอลิเมอร์ดีอย่างไร ทำไมหลายประเทศจึงนำมาใช้ เขียนโดย ดร. ไพโรจน์ บาลัน ฝ่ายกลยุทธ์และบริหารกิจการธนบัตร ธปท. โดยมีรายละเอียด ดังนี้

แม้ว่าสื่อชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) จะเป็นที่นิยมใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความต้องการใช้ธนบัตรก็ยังมีอยู่ในระดับสูง ในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์ เม็กซิโก และแคนาดา พบว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปริมาณธนบัตรหมุนเวียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลาง (แบงก์ชาติ) ของประเทศดังกล่าว จึงมีการทบทวนนโยบาย รวมถึงพัฒนารูปแบบและคุณลักษณะของธนบัตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของการบริหารจัดการธนบัตรของประเทศ โดยเทรนด์ที่เห็นได้ชัดเจนคือการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ (พลาสติก) แทนธนบัตรกระดาษ โดยมุ่งเน้นในธนบัตรชนิดราคาต่ำ

ความเป็นมาของธนบัตรพอลิเมอร์

– ธนบัตรพอลิเมอร์ใช้วัสดุพลาสติกสังเคราะห์ประเภท biaxially oriented polypropylene (BOPP) โดยในกระบวนการผลิตวัสดุพอลิเมอร์จะใช้แรงดึงฟิล์มพลาสติกในสองทิศทาง ทำให้ได้วัสดุที่ทนทานและโปร่งแสง

– ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ผลิตและออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์อย่างต่อเนื่อง โดยออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ 10 ดอลลาร์ เป็นชนิดราคาแรก เมื่อปี ค.ศ. 1988 โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการปลอมแปลงธนบัตร เนื่องจากธนบัตรพอลิเมอร์สามารถรองรับลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงได้หลากหลายมากกว่าธนบัตรกระดาษ

– ธนบัตรพอลิเมอร์ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ ในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1990-1999 หลายประเทศได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ โดยส่วนใหญ่ออกใช้เป็นธนบัตรที่ระลึก หรือ ออกใช้เฉพาะในบางชนิดราคา อาทิ มาเลเซีย โรมาเนีย บรูไน ต่อมาในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 2000-2009 หลายประเทศได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นธนบัตรหมุนเวียน ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ อิสราเอล และเม็กซิโก ล่าสุดในช่วงปี ค.ศ. 2010 – ปัจจุบัน ธนบัตรพอลิเมอร์เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น ในประเทศ แคนาดา ชิลี ซาอุดิอาระเบีย สก็อตแลนด์ และอังกฤษ

ธนบัตรพอลิเมอร์ดีอย่างไร

สะอาด ธนบัตรพอลิเมอร์มีความทนทานต่อความชื้นและสิ่งสกปรกได้ดี จากกรณีศึกษาในประเทศต่าง ๆ พบว่าธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานประมาณ 2.5 เท่าของธนบัตรกระดาษ โดยการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ช่วยยกระดับคุณภาพธนบัตรออกใช้หมุนเวียนให้ใหม่และสะอาดมากยิ่งขึ้น แม้ในประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์

ทนทาน เทคโนโลยีในการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์ได้มีพัฒนาการไปอย่างมากในช่วง 10-20 ปี ที่ผ่านมา โดยในส่วนของวัสดุพอลิเมอร์ ได้มีการปรับปรุงให้ทนทานและพิมพ์ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เครื่องจักรและเทคโนโลยีในการพิมพ์และการเคลือบผิวธนบัตรหลังการพิมพ์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ตลอดจนคุณสมบัติของหมึกพิมพ์และสารเคลือบสำหรับการผลิตธนบัตรพอลิเมอร์ก็มีการปรับปรุงจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

ปลอดภัย (จากการปลอมแปลง) ธนบัตรพอลิเมอร์สามารถออกแบบให้มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่หลากหลายและปลอมแปลงยากกว่าธนบัตรกระดาษ โดยในระยะ 10-20 ที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาของเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงไปเป็นอย่างมาก จากกรณีศึกษาในหลาย ๆ ประเทศ พบว่าการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์มีผลทำให้สถิติการปลอมแปลงธนบัตรลดลงได้อย่างชัดเจน

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงคาร์บอนฟุตปรินท์ (จากการผลิตธนบัตรทดแทน การขนส่งและกระจายธนบัตร และการทำลายธนบัตรที่เสื่อมสภาพและหมดอายุการใช้งาน เป็นต้น) ของธนบัตรพอลิเมอร์น้อยกว่ากระดาษ (อ้างอิง ตัวอย่างผลการศึกษาของประเทศแคนาดา และประเทศอังกฤษ) เนื่องจากธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานที่ยาวกว่าธนบัตรกระดาษเป็นอย่างมาก

ธนบัตรพอลิเมอร์กับประสิทธิภาพโดยรวมของการบริหารจัดการธนบัตรของประเทศ

พันธกิจที่สำคัญของธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติ ในประเทศต่าง ๆ ครอบคลุมถึงการออกใช้และดูแลธนบัตรหมุนเวียนให้มีคุณภาพดี (รวมถึงมีความสะอาด โดยไม่เก่าจนเกินไป) มีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่มีประสิทธิผล ภายใต้ต้นทุนในภาพรวมที่มีประสิทธิภาพ

ธนบัตรพอลิเมอร์ได้รับความนิยมมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าธนบัตรกระดาษ สามารถต้านทานความชื้นและสิ่งสกปรกได้ดี ตลอดจนรองรับลักษณะการปลอมแปลงที่หลากหลายและแตกต่างจากธนบัตรกระดาษ นอกจากนี้ กระบวนการผลิตวัสดุพอลิเมอร์ และการพิมพ์ธนบัตรพอลิเมอร์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นทุนในการผลิต หรือจัดซื้อ ธนบัตรพอลิเมอร์ มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ โดยเฉพาะในชนิดราคาต่ำ จะทำให้ได้รับประโยชน์ของธนบัตรพอลิเมอร์อย่างเต็มที่ อันจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพโดยรวมของการบริหารจัดการธนบัตรของประเทศ

 

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย