ราชกิจจา ประกาศ พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉินแก้โควิด เพิ่มเติม 5 แสนล้าน

ราชกิจจา

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ให้กระทรวงการคลังกู้เงินฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน  5 แสนล้าน จากเดิมกำหนดไว้ 7 แสนล้าน

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยบังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือ ตั้งแต่วันนี้ (25 พ.ค.2564) เป็นต้นไป

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง เป็นวิกฤติสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนและต่อเนื่องกับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้ดำเนินการอยู่ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

ทั้งนี้ประกาศฉบับดังกล่าว ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชก าหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า“พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564”

มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งยังไม่ยุติลง ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยมีมูลค่ารวมกันไม่เกินห้าแสนล้านบาทโดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30  กันยายน พ.ศ. 2565

วงเงินกู้ตามวรรคหนึ่งไม่กระทบต่ออำนาจการกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ของกระทรวงการคลังตามพระราชก าหนดให้อ านาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

มาตรา 4 ให้การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

มาตรา 5 เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดังต่อไปนี้มิได้

(1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

(2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

(3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ แผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้

มาตรา 6 การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยค านึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการช าระหนี้คืนประกอบด้วย ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ปรับวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้เพื่อการตามมาตรา 5 (1) (2) และ (3) ก็ได้ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้ทั้งหมดต้องไม่เกินห้าแสนล้านบาท

มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไป ตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และให้น าความในมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อ านาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 8 การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้การชำระหนี้ การรายงานการกู้เงิน และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ให้นำความในมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 9 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี