“เงินเดือนน้อย-ภาระเยอะ” ไม่ใช่ปัญหา เริ่มออมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็รวยได้!

พนักงานออฟฟิศ

เกิดมาเป็นมนุษย์เงินเดือน รายได้น้อย แถมยังมีภาระเยอะ หลายคนก็เลยคิดว่า “การมีเงินก้อนใหญ่ก็คงเป็นแค่ความฝัน”

แต่รู้หรือไม่ เงินเดือนน้อยก็จับเงินก้อนใหญ่ได้ เพียงแค่เราเลือกใช้สวัสดิการของบริษัทที่มี อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วการจับเงินก้อนใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

โดยข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการด้านการออมของลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือนที่ตามกฎหมายสามารถเลือกหักเงินสะสมจากเงินเดือนได้ตั้งแต่ 2-15% เข้ากองทุน และนายจ้างก็ให้เงินสมทบทุกเดือนตั้งแต่ 2-15% เข้ากองทุนเช่นกัน

และลูกจ้างสามารถเลือกสะสมเงินในอัตราที่สูงกว่าที่นายจ้างสมทบให้ก็ได้ ซึ่งความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ต้องดูตาม ‘ข้อบังคับกองทุน’ ว่ากำหนดไว้ในอัตราที่เท่าไร เช่น บางแห่งอาจกำหนด 5-15% หรือ 2-10% เป็นต้น

มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจมองว่าการถูกหักเงินเดือนเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกเดือนเป็นเรื่องที่ไม่น่ายิ้มออกสักเท่าไรเพราะปกติเงินเดือนก็ไม่พอใช้อยู่แล้ว แต่เมื่อมองในระยะยาว เงินออมก้อนนี้จะกลายเป็นเงินออมก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งในการเลี้ยงชีพหลังเกษียณอายุในอนาคตได้

ดังนั้น แม้ว่าในแต่ละเดือนจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างภาระหนี้ที่ต้องชำระมากมายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และผ่อนมือถือ แต่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็สามารถออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ โดยเริ่มนำส่งเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราขั้นต่ำสุดตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน เช่น อาจจะ 2% หรือ 3% ของเงินเดือน เพื่อไม่ให้กระเทือนเงินในกระเป๋ามากเกินไป มีเงินน้อยก็สะสมเงินน้อย มีเงินเยอะก็สะสมเงินเยอะ และเมื่อเวลาผ่านไป เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นหรือภาระหนี้สินที่น้อยลงก็ค่อยเพิ่มเงินสะสมเข้ากองทุนซึ่งก็ยังไม่นับว่าสายเกินไป สิ่งสำคัญคือ ยิ่งเริ่มต้นสะสมเงินเข้ากองทุนเร็วก็จะยิ่งได้เงินสมทบจากนายจ้างเร็วอีกทางด้วย

บางคนอาจคิดว่ายังไม่ต้องรีบสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มต้นทำงานเพราะเงินเดือนยังน้อยอยู่ รอมีเงินเดือนมากขึ้นกว่านี้แล้วค่อยสะสมก็ได้ ความเข้าใจผิดที่ว่าการมีเงินน้อยต้องใช้เวลาสะสมนาน การมีเงินมากจะใช้เวลาสะสมเร็วกว่า แสดงว่ายังไม่รู้จักพลังดอกเบี้ยทบต้นที่แท้จริง

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ นาย A ที่เริ่มสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อได้เงินเดือนก้อนแรกตอนอายุน้อย ๆ กับ นาย B ที่เริ่มสะสมเงินเข้ากองทุนเมื่อเริ่มมีความมั่นคงในชีวิต

จะเห็นได้ว่า นาย A จะได้เงินตอนอายุ 60 ปีมากกว่านาย B ตอนอายุ 60 ปี ถึง 755,173.18 บาท บนสมมติฐานที่ไม่ได้นำการขึ้นเงินเดือนทุกปีมาคำนวณ ถ้านำมาคำนวณจะมีเงินก้อนมากกว่านี้แน่นอน

ดังนั้น ใครเริ่มออมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนหรือเริ่มเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ แค่เริ่มสะสมเงินเข้ากองทุนตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน จากเงินหลักร้อยก็กลายเป็นเงินหลักล้านได้ไม่ยาก

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipvd.com