ประกันชิงขายเบี้ยออมทรัพย์ เน้นระยะสั้น-ฉวยจังหวะบอนด์ยีลด์ขาขึ้น

ธุรกิจประกันชีวิตแห่คืนชีพขาย “สินค้าออมทรัพย์” จับเทรนด์บอนด์ยีลด์ขาขึ้น “ม.ล.จิรเศรษฐ” เผย คปภ.เปิดทางขายสินค้าระยะสั้นได้ หลังผ่านการทดสอบความเสี่ยงสถานการณ์เลวร้ายสุดแล้วหลายบริษัท “เงินกองทุน” เพิ่มขึ้น เผย “กรุงเทพประกันชีวิต” ส่งโปรดักต์ออมทรัพย์แบบมีเงินปันผล เปิดขายไม่เกิน 2 พันล้านบาท แถมยังมีสินค้าการันตีผลตอบแทนเน้นขายผ่านออนไลน์ จ่ายยีลด์ 1.7% ฟาก “ไทยประกันชีวิต” งัดโปรดักต์ “ธนทวี 8 3/2” สู้ จ่ายเบี้ย 2 ปี คุ้มครอง 3 ปี การันตีผลตอบแทน 1.84% ขายไม่ถึงเดือนโกยเบี้ย 500 ล้านบาทตามเป้าแล้ว

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตเริ่มกลับมาขายสินค้าประกันออมทรัพย์ระยะสั้นกัน หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) รุ่นอายุ 10 ปี ดีดตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากต้นปีอยู่ที่ระดับ 1.28% ถึงสิ้นเดือน พ.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 1.85% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ จากความกังวลเงินเฟ้อสหรัฐ ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ให้ภาคธุรกิจทดสอบความเสี่ยงจำลอง (stress test) สถานการณ์ที่แย่ที่สุดในกรณีการวิ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์

“หลังการทดสอบช่วยหนุนให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR) ของบริษัทประกันชีวิตปรับตัวดีขึ้นกันเป็นแถว ส่งผลให้สามารถออกสินค้าระยะสั้นได้ แต่ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ขายขาดทุน แต่ละบริษัทต้องไปซื้อสินค้าลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงเข้ามาจับคู่ (แมตชิ่ง) ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ที่เราลงทุนจะเป็นพันธบัตร รวมไปถึงฝ่ายลงทุนจะมีการไปดูสินทรัพย์บางตัวที่ผลตอบแทนวิ่งขึ้น เพื่อลงทุนเพิ่มด้วย” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

ม.ล.จิรเศรษฐกล่าวอีกว่า วิกฤตโควิด-19 ปัจจุบันถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะตอนนี้มีการฉีดวัคซีน และทั่วโลกเริ่มผ่อนปรนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงเห็นความต้องการซื้อ (ดีมานด์) และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้น ทำให้เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบต้องหยุด เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มเห็นถอนการอัดฉีดสภาพคล่อง และหันไปขึ้นดอกเบี้ยแทน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจประกันชีวิตที่จะได้ประโยชน์

ดังนั้น แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจประกันชีวิตจะเห็นออกสินค้าระยะสั้น แต่สินค้าประกันออมทรัพย์แบบการันตียังไม่กล้าขายมากนัก โดยที่ได้ประโยชน์มากสุด คือ สินค้าประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) ซึ่งเห็นได้จากช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ เบี้ยยูนิตลิงก์ในอุตสาหกรรมอยู่ที่ 14,510 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 103.47% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ปัจจุบัน กรุงเทพประกันชีวิต ออกสินค้าประกันออมทรัพย์แบบมีเงินปันผล (participating) ซึ่งมีกิมมิกเปิดขายแค่ 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงและกระตุ้นคนวิ่งขาย โดยจะแยกกองออกมาบริหารสำหรับสินค้าประเภทนี้ เพื่อโอกาสแบ่งผลกำไรให้ลูกค้าได้มาก ซึ่งหากขายสินค้าระยะสั้น ๆ จะขายได้ค่อนข้างดี

“ตอนนี้สินค้าออมที่ขายผ่านธนาคารกรุงเทพ เช่น ประกันออมทรัพย์ เกนเฟิสต์ 424 (มีเงินปันผล) จ่ายเบี้ย 4 ปี คุ้มครอง 12 ปี และขายผ่านออนไลน์ เช่น บีแอลเอ สมาร์ทเซฟวิ่ง 10/1, บีแอลเอ สมาร์ทรีเทิร์น 10/5, บีแอลเอ แฮปปี้เซฟวิ่ง 126 ออนไลน์, กรุงเทพ 118 ออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งช่องออนไลน์จะมีการันตีผลตอบแทนที่ 1.7% เป็นอยู่อันดับ 2 ของอุตสาหกรรม รองจากฟิลลิปประกันชีวิตที่การันตีผลตอบแทนกว่า 2%” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดขายแบบประกันออมทรัพย์ธนทวี 8 3/2 (จ่ายเบี้ย 2 ปี คุ้มครอง 3 ปี) เป็นแบบการันตีผลตอบแทนสูงที่ 1.43-1.84% (ขึ้นอยู่กับอายุและทุนประกัน) เมื่อครบกำหนดสัญญารับเงินคืน 206% จำนวนเงินเอาประกันภัย กำหนดเปิดขายแค่ 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

“บริษัทได้ปิดการขายไปแล้ว เพราะยอดขายได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ 500 ล้านบาท เนื่องจากเป็นรูปแบบการออมเงินระยะสั้นที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ทั้งนี้ การเปิดขายผลิตภัณฑ์แบบการันตีดังกล่าว ฝ่ายลงทุนจะแมตชิ่งกับสินทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้เป็นหลัก” นางวรางค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสมาคมประกันชีวิตไทยพบว่า ช่วง 4 เดือนแรกปี 2564 นี้ เบี้ยรวมของสินค้าประกันออมทรัพย์อยู่ที่ 88,711 ล้านบาท ลดลง 1.44% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เบี้ยจ่ายครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมี่ยม) ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 77.33% มาอยู่ที่ 3,164 ล้านบาท