KKP ชี้ เงินเยียวยา 2 สัปดาห์ ซื้อไฟเซอร์-โมเดอร์นา ได้ 200 ล้านโดส

เงินเยียวยาเปลี่ยนเป็นวัคซีน

KKP Research เผยรายงาน ชี้ งบประมาณเยียวยาประชาชน ซื้อวัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นา ได้กว่า 200 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากรไทยเกือบทั้งประเทศ 

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” หรือ “เกียรตินาคินภัทร (KKP)” สรุปย่อ: รายงาน เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นยาว ท่องเที่ยวยังไม่กลับเป็นปกติแม้เปิดประเทศ หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือการเปรียบเทียบงบประมาณที่ใช้เพื่อการเยียวยากับราคาวัคซีน 2 ยี่ห้อ ได้แก่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา 

วัคซีนไทยล่าช้าเพราะทางเลือกนโยบาย

วัคซีนที่ล่าช้าเป็นผลมาจากทางเลือกนโยบายของภาครัฐ มากกว่างบประมาณที่ไม่เพียงพอ เมื่อประเมินตัวเลขงบประมาณทั้งหมดเพื่อการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ผ่านนโยบายทั้งการแจกเงิน การให้เงินอุดหนุน โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และเปรียบเทียบกับราคาวัคซีนจะพบว่า

หากนำนโยบายที่ใช้เยียวยาจากการระบาดระลอกใหม่เพียงสองสัปดาห์ไปซื้อและฉีดวัคซีนแทน จะสามารถซื้อ Pfizer ได้ถึง 129.4 ล้านโดส Moderna ไได้ถึง 68.6-101.5 ล้านโดส (รวมแล้วกว่า 200 ล้านโดส) ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรไทยเกือบทั้งประเทศ และลดต้นทุนทางการคลังจากการเยียวยาไปได้อย่างมาก

อะไรคือนโยบายที่สำคัญที่สุด ?

การฉีดวัคซีนล่าช้าถือเป็นต้นทุนขนาดใหญ่ต่อเศรษฐกิจไทย KKP Research ประเมินว่า ในภาพรวมไทยต้องเจอต้นทุนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นผ่านหลายช่องทางในภาวะที่การฉีดวัคซีนทำได้อย่างล่าช้า

1) ความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ ตัวอย่างของผลกระทบที่พอประเมินได้ในเดือนเมษายน คือ การบริโภคหดตัวลงประมาณ 4% และการลงทุนหดตัวลงประมาณ 2% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือต้นทุนต่อเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 23,500 ล้านบาท ต่อเดือน

2) ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าเดิม KKP Research ประเมินว่าความล่าช้าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจะลดลงเหลือ 1.6 แสนคน และ 5.8 ล้านคนในปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 34,000 บาทต่อคนคิดเป็นต้นทุนต่อเศรษฐกิจอีกประมาณ 96,560 ล้านบาทในปี 2021 และ 292,400 ล้านบาทในปี 2022

3) ต้นทุนทางการคลังเพื่อต่อสู้กับการระบาด ในการระบาดระลอกใหม่รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกกว่า 2.19 แสนล้านบาท และต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นประมาณ 3% ของ GDP

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่ารัฐบาลมีทางเลือกในการหลีกเลี่ยงต้นทุนมหาศาลเหล่านี้ได้โดยการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีน ต้นทุนที่สูงต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่ควรทำที่สุดในเวลานี้คือการเร่งควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ เร่งจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เตรียมเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มอยู่ภายใต้การควบคุม รัฐต้องเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นโครงการลงทุนที่สร้างรายได้ สร้างงาน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ตอบโจทย์และความท้าทายของโลกหลังโควิด-19 ได้