กลยุทธ์ SMEs “3 เร่ง” หลังไทย “ฉีดวัคซีนโควิดเพิ่มขึ้น”

คอลัมน์ Smart SMEs
ttb analytics

 

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความจำเป็นต้องทยอยปิดกิจการหรือปิดร้านชั่วคราว เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ คือการเร่งฉีดวัคซีน และการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ หากสามารถทำได้ดังที่กล่าวจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจร้านค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการบริการและค้าปลีกที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้ว่าจะเริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีน แต่ก็ยังคงต้องใช้เวลาเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs ควรมีกลยุทธ์รองรับกับสถานการณ์หลังการเร่งฉีดวัคซีนที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ขอแนะนำแนวทางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ SMEs 3 เร่ง หลังภาครัฐเร่งฉีดวัคซีน ดังนี้

1.เร่ง…สนับสนุนให้ลูกจ้างรับการฉีดวัคซีนตามที่ภาครัฐประกาศไว้ หรือผู้ประกอบการสามารถติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ขอรับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่ม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และหากเป็นไปได้ ควรให้ลูกจ้างทำประกันการแพ้วัคซีน นอกเหนือจากภาครัฐที่ดำเนินการให้แล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ลูกจ้างในกรณีที่มีการแพ้วัคซีนมาก

2.เร่ง…สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า แม้ว่าเริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนแล้ว แต่ลูกค้ายังกังวลว่าร้านค้าดังกล่าวปลอดภัยจากโรคโควิด-19 หรือไม่ ดังนั้น หากลูกจ้างฉีดวัคซีนครบแล้ว ผู้ประกอบการสามารถทำสัญลักษณ์ให้ลูกค้าทราบว่า ร้านค้าปลอดภัย จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าในการใช้บริการมากขึ้น เช่น ร้านอาหาร ติดป้ายว่า “ร้านนี้อร่อยและปลอดภัย พวกเราฉีดวัคซีนแล้ว” ผู้บริการขับรถแท็กซี่มีสติ๊กเกอร์แสดงสัญลักษณ์ว่า คนขับได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว เป็นต้น

3.เร่ง…ส่งเสริมการขายให้กับลูกค้า ผู้ประกอบการสามารถจัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่ได้รับวัคซีนแล้ว หรือโรงพยาบาลมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อซื้อโปรแกรมตรวจสุขภาพของโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มลูกค้าในช่วงที่ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ยังคงทรงตัว ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกค้าอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หันไปฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“กลยุทธ์ SMEs 3 เร่ง” ดังกล่าว เป็นข้อเสนอสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้ากลับมาใช้จ่ายเหมือนเดิม ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐ นอกจากการเร่งฉีดวัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายแล้ว หน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลฯ ฯลฯ สามารถเข้ามาสนับสนุนร่วมสร้างมาตรฐานความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการที่ลูกจ้างดำเนินการฉีดวัคซีนแล้ว เช่น การจัดทำป้ายรับรอง เช่น “ร้านนี้ฉีดวัคซีนแล้ว” หรือการแจ้งเตือนในแพลตฟอร์ม ไทยชนะ หมอชนะ หรือแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ว่า “ร้านนี้ปลอดภัยพร้อมให้บริการ” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ

การสร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เป็นอีกวิธีที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ นอกจากธุรกิจจะปรับกลยุทธ์ในการขายแล้ว หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในอีกทาง การดำเนินการร่วมกันนี้จะทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถประคองตัวและค่อย ๆ ฟื้นตัวต่อไปได้