เปิดปม LINE BK โตก้าวกระโดดฝ่า “โควิด” คนแห่กู้ผ่านไลน์พุ่ง

ธนา โพธิกำจร ซีอีโอบริษัท กสิกรไลน์

นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2563ปัจจุบัน “LINE BK” หรือ บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ที่ร่วมทุนกันระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับไลน์ เพื่อให้บริการสินเชื่อผ่านไลน์ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ล่าสุด “ธนา โพธิกำจร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE BK ได้มาอัพเดตว่า ที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 2.8 ล้านบัญชี มียอดการทำธุรกรรม 5 หมื่นล้านบาท เดือนล่าสุด พ.ค.ที่ผ่านมามียอดธุรกรรมกว่า 5 ล้านรายการ

โดยจาก 4 บริการหลักพบว่าด้านเงินฝากมีผู้ใช้บริการแล้ว 3.4 ล้านบัญชี เฉพาะบัญชีเงินออมอัตราดอกเบี้ยพิเศษอยู่ที่ 7.5 หมื่นบัญชี ส่วนบัตรเดบิตมี 1.4 ล้านใบ ซึ่งลูกค้าสามารถใช้บัตรเสมือนจริง (Visual Card) นำไปใช้ซื้อสินค้าออนไลน์โดยไม่มีค่าธรรมเนียมได้

“หลังเปิดตัวเราได้เพิ่มฟีเจอร์เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น Wallet Balance ที่เป็นเหมือนโมบายแบงกิ้ง สามารถดูยอดเงินในบัญชี หรือที่เพิ่งเปิดตัวไปในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา คือ การโอนเงินไปยังผู้รับที่ไม่ได้ใช้ LINE BK ได้ อย่างไรก็ดี เรายังต้องเพิ่มยอดผู้ใช้ที่แอ็กทีฟในการทำธุรกรรม เนื่องจากลูกค้าบางส่วนยังไม่รู้ว่าสามารถโอนเงินผ่านแชตได้เลย” นายธนากล่าว

สำหรับบริการวงเงินให้ยืม (Digital Lending) ภายใต้แคมเปญ “ยืม LINE ง่ายกว่า” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ประกอบกับที่ผ่านมามีการออกแคมเปญ “ยืมเลยไม่มีดอกเบี้ย 0%”

หรือ “ดอกเบี้ยพิเศษ 0.99%” ทำให้มีความต้องการสินเชื่อเข้ามาค่อนข้างมากโดยมีลูกค้าสมัครขอวงเงินสินเชื่อกว่า 4 ล้านราย และมียอดการอนุมัติอยู่ที่ 3.5 แสนบัญชี ถือว่าเติบโตค่อนข้างเร็ว

“หากดูวันที่มียอดสมัครสูงสุด (พีก) อยู่ที่ 6.5 หมื่นราย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มลูกค้าที่ผิดหวังจากมาตรการของภาครัฐ จึงหันมาขอสินเชื่อเราแทน” นายธนากล่าว

นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่าจะคิดอัตราดอกเบี้ย 33% แต่จะต้องบริหารความเสี่ยงด้วยเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้

ทำให้ในช่วงแรกของการทดลองวงเงินการปล่อยสินเชื่อจะยังต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 หมื่นบาทต่อรายเมื่อเทียบกับบริการวงเงินให้ยืมเฉลี่ย 3.5 หมื่นบาท อย่างไรก็ดี นาโนไฟแนนซ์จะทำให้บริษัทสามารถหาลูกค้าได้กว้างมากขึ้น เนื่องจากบริษัทต้องการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีลูกค้าใหม่ที่ใช้สินเชื่อครั้งแรกมีสัดส่วนประมาณ 25% โดยยอดปล่อยสินเชื่อในช่วง 2 เดือนอยู่ที่ 300-400 ล้านบาท

“นับตั้งแต่เปิดบริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มียอดเบิกใช้วงเงินแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้าง 9,000 ล้านบาท แม้ว่าจะไม่มีการปักธงเป้าหมายสินเชื่อ แต่จากความต้องการที่มีสูงคาดว่าใน 1-2 เดือนข้างหน้ายอดสินเชื่อคงค้างน่าจะแตะ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงที่เหลือของปียังคงมีความต้องการต่อเนื่อง แต่บริษัทจะเน้นดูความสามารถการชำระหนี้ลูกค้าอย่างใกล้ชิด” นายธนากล่าว

ส่วนสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วันของ LINE BK ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ส่วนหนึ่งเพราะ LINE BK เพิ่งเปิดไม่นาน ทำให้สินเชื่อที่เข้ามาใหม่ยังไม่ทันครบ 3 เดือน จึงเป็นตัวเลขที่ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง ซึ่งต้องรอดูช่วง 1-2 ปี ประกอบกับมีมาตรการทางการที่ชุบชีวิตและการปรับโครงสร้างหนี้ได้

“กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเป็นกลุ่มแม่ค้ารายย่อย และกลุ่มมีรายได้ไม่ประจำที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้ประจำเกือบ 1 เท่าตัวของอัตราค้างชำระ เช่น รายได้ไม่ประจำมีอัตราเสีย 2% และมีรายได้ประจำ 1% โดยปัจจุบันสัดส่วนฐานลูกค้ามีกลุ่มรายได้ประจำ 59% และไม่ประจำ 41% มีสัดส่วนรายได้ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน มีอยู่ประมาณ 3 ใน 4 ของพอร์ต”

“ธนา” ยอมรับว่าตอนนี้มองไปข้างหน้าภาพยังไม่ชัดเจนนัก โดยหากสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวอาจจะต้องปรับกลยุทธ์ทุกเดือน แต่หากภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นก็ต้องพยายามสร้างการเติบโตมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่รู้สถานการณ์จะเดินไปในทิศทางใด

อย่างไรก็ดี ภายในเดือน ก.ค.นี้ LINE BK จะมีความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่เพื่อต่อยอดปล่อยสินเชื่อและฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ในอนาคตมีแผนจะรุกธุรกิจประกันและการลงทุนเพิ่มเติม

ต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นความท้าทายอย่างมาก ซึ่งในส่วนของ LINE BK เองก็คงต้องปรับแผนอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน