ทองคำในเดือนกรกฎาคม คาดยังอยู่ในช่วงปรับฐาน

สถานีลงทุน
ธนรัชต์ พสวงศ์ 
ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

 

เดือนมิถุนายนราคาทองคำเริ่มปรับลดลง โดยราคาทองคำ spot ลดลงถึง 7% หลังจากที่ราคาทองคำปรับขึ้นติดต่อกัน 2 เดือนราว 200 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 11%

ซึ่งในช่วงต้นเดือนมิถุนายนราคาทองคำสามารถปรับขึ้นทำจุดสูงสุดแตะ 1,916 ดอลลาร์ แต่ทองคำเริ่มมีแรงเทขายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายนที่เฟดได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้ 1 ปี

สำหรับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั้น ประธานเฟดแถลงว่ากรรมการเฟดได้เริ่มหารือที่จะปรับลดวงเงินมาตรการ QE มีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับทิศทางเป็นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 2 เดือน

นอกจากนี้ ประธานเฟดสาขาเซ็นต์หลุยส์ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ทำให้ตลาดเกิดความไม่มั่นใจว่าเฟดอาจจะเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่เร่งตัวสูงขึ้นและเกินกว่าที่เฟดเคยคาดการณ์ไว้ ทำให้เฟดได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3% จากประมาณการเดิมที่คาดจะเพิ่มขึ้น 2.2%

โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหรือดัชนีราคา PCE พื้นฐานเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำ spot เดือนกรกฎาคมคาดอยู่ในช่วงของการปรับฐาน ทำให้อาจจะเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบ โดยคาดราคาทองคำจะมีแนวรับที่ 1,750 ดอลลาร์ และ 1,700 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 1,800 ดอลลาร์ และ 1,830 ดอลลาร์

ทั้งนี้ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาทองคำในเดือนกรกฎาคม ได้แก่ การประชุมเฟด ในวันที่ 27-28 กรกฎาคม และการจ้างงานของสหรัฐเดือนมิถุนายนที่จะประกาศในช่วงต้นเดือน สำหรับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดจะไม่มีประเด็นที่ทำให้ตลาดทองคำผันผวนมากเท่าการประชุมในเดือนมิถุนายน อาจจะมีประเด็นเรื่องการปรับลดวงเงินในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ว่าจะมีความชัดเจนหรือยังเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะเริ่มปรับลดวงเงิน แต่ประเมินว่าอาจจะยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ทำให้ราคาทองคำจะไม่ได้ผันผวนมากนักหลังการประชุม

ส่วนการจ้างงานของสหรัฐเดือนมิถุนายนยังจะทำให้ราคาทองคำผันผวนได้ ในกรณีที่การจ้างงานออกมาแตกต่างจากที่ตลาดคาดไว้มาก หลังจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาต่ำกว่าตลาดติดต่อกัน 2 เดือน ซึ่งตลาดคาดการณ์จ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายนจะเพิ่มขึ้น 700,000 ตำแหน่ง

สำหรับประเด็นเรื่องเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องประมาณถึง 1 บาทตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน จนทะลุ 32 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน มีผลทางบวกต่อราคาทองแท่งในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

เงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปัจจัยเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นหลังจากเฟดส่งสัญญาณเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงิน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศที่ยังมีผู้ติดเชื้อในระดับที่สูงโดยเฉพาะใน กทม. จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิดมากขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ เงินบาทในเดือนกรกฎาคมคาดจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทคาดจะเริ่มชะลอลง