เคทีซี ปรับเป้ายอดรูดปรื๊ดเหลือ 2 แสนล้าน รับโควิดระบาด

เคทีซี ชี้ โควิด-19 ลากยาวฉุดยอดใช้จ่ายผ่านบัตร ปรับเป้ายอดใช้จ่ายเหลือ 5% หรือราว 2 แสนล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่อยู่ 8% หรือ 2.2 แสนล้านบาท เผยครึ่งปีแรกโตแล้ว 4% หรือ 9.4 หมื่นล้านบาท หมวดประกัน-เติมน้ำมัน-มาร์เก็ตเพลซ โตพุ่ง ระบุคงเป้าลูกค้าใหม่ 2.3 แสนใบ

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” ว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง ได้สร้างความท้าทายให้กับธุรกิจบัตรเครดิต และกระทบต่อเป้าหมายการเติบโตจากเดิมตั้งเป้ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 8% หรือคิดเป็น 2.2 แสนล้านบาท แต่ภายหลังจากเกิดการระบาดระลอก 3 คาดว่าอัตราการเติบโตทั้งปีน่าจะสามารถทำได้อยู่ที่ระดับ 5% หรือคิดเป็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท

โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 64) มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หมวดที่มียอดการใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประกัน เติมน้ำมัน วาไรตี้สโตร์-มาร์เก็ตเพลซ ซูเปอร์มาร์เก็ต และสุขภาพ-โรงพยาบาล เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนการทำงานอยู่บ้าน ขณะที่หมวดที่ได้รับผลกระทบจะเป็นหมวดการท่องเที่ยว-แฟชั่น

ขณะที่เป้าหมายการเติบโตยอดสมัครบัตรใหม่ทั้งปีอยู่ที่ 2.3 แสนใบ โดยในช่วง 6 เดือนแรกสามารถทำได้แล้วประมาณ 9.5 หมื่นใบ อย่างไรก็ดี จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ช่องทางการหาลูกค้าใหม่ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากช่องทางหลักจะเป็นธนาคารกรุงไทย และพนักงาน Outsource Sales ซึ่งหากลูกค้าใหม่หาได้น้อยลงจะมีผลกระทบต่อไปยังยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี เคทีซียังไม่มีการปรับเป้ายอดใหม่แต่อย่างใด

โดยคุณภาพสินเชื่อ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ แม้ว่าแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 1.4% และขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5% ในเดือนพฤษภาคม ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรม ณ เดือนเมษายน เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.3% ส่วนหนึ่งที่เอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำ มาจากการคัดกรองลูกค้าใหม่ที่เข้มงวดและอนุมัติได้ยากขึ้น ซึ่งจะดูความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี บริษัทไม่ได้มีการปรับเกณฑ์รายได้ยังคงรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน โดยอัตราการอนุมัติบัตรเครดิตใหม่ (Approval Rate) อยู่ที่ 36% ลดลงจากเดิมที่เคยอยู่กว่า 40% และกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป

“เป้าหมายปีนี้ประเมินยาก ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทั้งปี 64 เดิมตั้งเป้าไว้ 2.2 แสนล้านบาท หรือเท่ากับโต 8% จากปี 63 แต่ด้วยสถานการณ์และปัจจัยทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงคาดว่าจะโตได้ประมาณ 5% หรือราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนและต้องประเมินสถานการณ์กันต่อไป แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อยๆ กลับมาได้ในไตรมาสที่ 4”

สำหรับกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบัตรเครดิตครึ่งปีหลังของปี 2564 เน้นหลักการ Partnership Marketing ดึงเทคนิคสร้างความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับพันธมิตรในหลากมิติ เพิ่มความคุ้มค่าให้สมาชิกกับสิทธิพิเศษในหมวดที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน และเหมาะกับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลที่ต้องการไม่เพียงแค่ความสะดวกแต่ต้องมีความปลอดภัยและอุ่นใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี รวมถึงเคทีซียังมี KTC U SHOP ซึ่งเป็นบริการขายสินค้าออนไลน์ที่ใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนพันธมิตรและผู้ประกอบการที่สนใจนำเสนอสินค้าให้แก่สมาชิกบัตร โดยสมาชิกสามารถชำระด้วยคะแนน KTC FOREVER หรือบัตรเครดิตเคทีซีได้อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ได้พัฒนาศักยภาพของแอป KTC Mobile ให้มีบริการที่สะดวก เน้นการใช้งานง่าย และรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกที่คุ้นชินกับการทำรายการแบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกโหลดใช้งานแอป KTC Mobile แล้วทั้งสิ้น 1.8 ล้านราย มียอดใช้ทำธุรกรรมสม่ำเสมอ (แอ็กทีฟ) ประมาณ 75% จากฐานลูกค้า 2.5 ล้านราย