แบงก์กำไร Q2 โตเกิน 3 หมื่นล้าน ไอพีโอ TIDLOR หนุน-พักหนี้ส่อดาวน์ไซด์

หุ้น-กองทุน-แบงก์

กำไรแบงก์ Q2/64 โต เหตุมีกำไรพิเศษของ BAY จากการขายไอพีโอ “เงินติดล้อ” ราว 7 พันล้านบาท “บล.กสิกรไทย” ชี้ภาพรวม “NIM ยังหด-ค่าฟีหน้าสาขาวูบ-ตั้งสำรองยังสูง-เอ็นพีแอลเพิ่ม” เก็ง KKP กำไรเด่นสุด โกยรายได้ธุรกิจโบรกเกอร์-วาณิชธนกิจ คาดกำไรแบงก์ทั้งปีฟื้นแตะ 1.3 แสนล้านบาท โต 24%จากปีก่อน ชี้ปัจจัยพักชำระหนี้ 2 เดือนอาจฉุดกำไรลดลง 6-7 พันล้านบาท ด้าน “บล.ยูโอบีฯ” ชี้ครึ่งปีหลังทยอยสะสมหุ้นแบงก์ได้

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำไรหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในไตรมาส 2/2564 คำนวณจากทั้งหมด 7 แบงก์ (ไม่รวมธนาคารกสิกรไทย) คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 34,030 ล้านบาท ลดลง 3% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) แต่เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)

อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 2 นี้มีกำไรพิเศษของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประมาณ 7,000 ล้านบาท จากการขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถ้าไม่นับกำไรดังกล่าวจะส่งผลให้กำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 2 ลดลงกว่า 22% จากไตรมาสแรก

ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันกำไรแบงก์หลัก ๆ มาจาก 1.ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ลดลง 0.1% จากไตรมาสแรก มาอยู่ที่ 2.56% 2.รายได้ค่าธรรมเนียมเห็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการใช้บริการหน้าสาขาที่ลดลง ซึ่งประเมินไตรมาส 2 นี้คาดจะอยู่ที่ 39,600 ล้านบาท ลดลง 8.97% จากไตรมาสแรก และในไตรมาส 3 จะลดลงอีก 1.52% จากไตรมาส 2 เหลืออยู่ที่ 39,000 ล้านบาท

3.เห็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นแทบทุกแบงก์ ประเมินต้นทุนความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ (credit cost) อยู่ในโซนสูง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่ต้องตั้งสำรองสูงระดับ 180-190 Bps เทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่มไตรมาส 2 อยู่ที่ 165 Bps คิดเป็นมูลค่าการตั้งสำรองรวมประมาณ 44,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท จากไตรมาส 1/2564 แต่ลดลงจากไตรมาส 2/2563 ที่ตั้งสำรองสูงถึง 52,000 ล้านบาทจากผลกระทบโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.9% และแนวโน้มยังเป็นขาขึ้นต่อไตรมาสละ 20-30 Bps คาดสิ้นปีเอ็นพีแอลจะปรับตัวแตะระดับ 4.6% โดยไม่ได้ขึ้นแรงเพราะมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ช่วยซื้อเวลาได้ ขณะที่ยอดปล่อยสินเชื่อไตรมาส 2 อยู่ที่ 10.74 ล้านล้านบาท เติบโต 0.2% QOQ และ 0.3% YOY

ทั้งนี้ หลัก ๆ เป็นสินเชื่อซอฟต์โลนที่ปล่อยให้เอสเอ็มอีและสินเชื่อรายใหญ่ ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์ยังเห็นการโตลดลง

“แบงก์ที่น่าจะมีกำไรเด่นสุดไม่นับ BAY ก็คือ KKP ที่น่าจะปรับตัวลดลงน้อยที่สุด ติดลบ 2% QOQ และบวก 21% YOY หลัก ๆ มาจากรายได้ธุรกิจโบรกเกอร์และธุรกิจวาณิชธนกิจที่มาช่วยรายได้ดอกเบี้ยที่แย่ลงได้” นายกรกชกล่าว

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังของธุรกิจธนาคารนายกรกชกล่าวว่า แนวโน้มกำไรน่าจะอยู่ในช่วงยากลำบาก โดยกำไรไตรมาส 3/2564 อาจจะลดลงจากไตรมาส 2/2564 เพราะส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่น่าจะยังปรับลดลงต่อ เพราะต้องช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มจากการล็อกดาวน์เข้มงวดขึ้นในพื้นที่สีแดงเข้ม และรายได้ค่าฟีที่ยังแย่กว่าเดิมเพราะบางห้างสรรพสินค้าปิด และสาขาแบงก์ในห้างดำเนินการไม่ได้เต็มที่ และต้องทยอยตั้งสำรองเพิ่มต่อเนื่องจากไตรมาส 2

ดังนั้นกำไรหุ้นแบงก์ครึ่งปีหลังอาจจะสู้กำไรครึ่งปีแรกไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า

“ฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทยคาดการณ์กำไรแบงก์ทั้งปีไว้ที่ 130,861 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มีดาวน์ไซด์จากมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งแบงก์พักชำระหนี้ 2 เดือน ให้ลูกหนี้ในจังหวัดที่ถูกล็อกดาวน์ แต่คงไม่เกิน 5% ของกำไรแบงก์ หรือจะลดลงราว 6,000-7,000 ล้านบาทจากประมาณการ” นายกรกชกล่าว

ขณะที่นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไตรมาส 2 คาดการณ์กำไรแบงก์ 8 แห่ง รวมกำไร บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) (แต่ไม่รวม LHFG, CIMBT) จะอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ถ้าไม่นับกำไรพิเศษ BAY จะมีกำไรจริงเพิ่มขึ้น 30% YOY แต่หดตัว -15% QOQ โดยคาดการณ์กำไรของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ 9,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 340% YOY จากปัจจัยการตั้งสำรองหนี้ปรับตัวลดลงกว่า 50% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัว -10% QOQ

ส่วนภาพรวม NIM คาดอ่อนตัวลงจากผลกระทบการปรับลดดอกเบี้ยปีที่แล้วจะส่งผลกระทบเต็มปีในปีนี้ และหนี้เสียเป็นทิศทางขาขึ้น คาดหดตัว -0.05% จากไตรมาสแรก มาอยู่ที่ 2.73% ซึ่งเทรนด์ลดลงต่อเนื่องถึงปีหน้าถ้าแบงก์ชาติไม่ประกาศต่ออายุการนำส่งเงินค่าธรรมเนียมให้เงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)

ด้านรายได้ค่าฟีประเมินอยู่ที่ 52,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% YOY แต่หดตัว -9% QOQ ส่วนการตั้งสำรองไตรมาส 2 อยู่ที่ 51,000 ล้านบาท ลดลง -29% YOY แต่เพิ่มขึ้น 6.25% QOQ ซึ่งผ่านจุดพีกไปแล้วช่วงไตรมาส 2/2563 ที่สูงกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ด้านเอ็นพีแอลไตรมาส 2 ปรับเพิ่มขึ้น 3% QOQ และ 5% YOY ซึ่งไม่สูงเพราะอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างหนี้

“ไตรมาส 2 กำไรแบงก์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 3-5% ช่วงสั้น ๆ จะมีแรงเก็งกำไร แต่ต้องดูมาตรการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นและเอ็นพีแอลว่าเทรนด์ครึ่งปีหลังเป็นอย่างไร ถ้ามองระยะกลางถึงยาวน่าจะทยอยสะสมหรือซื้อเมื่ออ่อนตัวเพราะจีดีพีค่อย ๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 กำไรแบงก์ฟื้นตัวเต็มปีนี้และปีหน้าเติบโต ซึ่งเป็นกลุ่มที่จ่ายเงินปันผลดี และถ้าแบงก์จัดการได้ดีในช่วงไตรมาส 4/2564 ก็มีโอกาสที่ ธปท.จะเปิดให้แบงก์จ่ายปันผลสูงขึ้นได้เทียบปีที่แล้ว” นายธนเดชกล่าว


ทั้งนี้ บล.ยูโอบีฯแนะนำซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) ราคาเป้าหมาย 149 บาท, KBANK ราคาเป้าหมาย 162 บาท, KKP ราคาเป้าหมาย 67 บาท และธนาคารทิสโก้ (TISCO) ราคาเป้าหมาย 105 บาท