เมื่อรัฐต้อนคนเข้าระบบ ปั้นบิ๊กดาต้า จ่ายเยียวยา/สวัสดิการ

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อไม่สิ้นสุด การดำเนินมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของประชาชน อย่างการ “ปิดเมือง”หรือ “ล็อกดาวน์” ทำให้ภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ดี ปัญหาอุปสรรคที่มักเจออยู่บ่อยครั้งก็คือ การขาดฐานข้อมูลที่สามารถหยิบมาใช้ได้ทันที ทำให้การจ่ายเงินเยียวยาอาจจะล่าช้า หรืออาจทำให้เกิดการช่วยเหลือผิดฝาผิดตัวไปบ้าง

เห็นได้จากช่วงแรก ๆ ที่โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” มีคนมาต่อแถวลงทะเบียนยาวเหยียด การตรวจสอบข้อมูลต้องใช้เวลา และยังต้องมีการ “ทบทวนสิทธิ” เพื่อแก้ไขข้อมูลในระบบอีกครั้งด้วย กว่าประชาชนจะได้รับเงินเยียวยากันครบถ้วน ก็ต้องใช้เวลานาน 2-3 เดือน

“ฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่แต่ละหน่วยงานภาครัฐ จะต้องออกแบบระบบการจัดเก็บให้ดี และต้องมองภาพระยะยาว เพื่อที่ในอนาคต หากเกิดวิกฤตเราจะสามารถจำแนกความช่วยเหลือตามกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องและรวดเร็วในการหยิบข้อมูลออกมาดำเนินนโยบายหรือมาตรการ โดยไม่ต้องมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

นี่เป็นคำกล่าวของ “กุลยา ตันติเตมิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ได้ฝากบทเรียนสำคัญที่เธอได้รับจากการทำงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ไว้ในวารสาร “BOT พระสยาม” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉบับล่าสุด

โดยบทเรียนตั้งแต่การดำเนินโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” จนกระทั่งมาถึงโครงการ “เราชนะ” ระหว่างทางได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพฐานข้อมูลมาโดยตลอด ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐบาลพยายามยืนยันการดำเนินมาตรการเยียวยาผ่าน “แพลตฟอร์ม” แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทยเป็นช่องทางดำเนินงานหลักมาโดยตลอด

ไม่เพียงแต่มาตรการเยียวยาเท่านั้น แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เช่นกัน ดังนั้น “เป๋าตัง” จึงเปรียบเสมือน “ถังข้อมูลขนาดใหญ่” ที่เก็บข้อมูลของบรรดาผู้เข้าร่วมโครงการหลายสิบล้านคนเอาไว้นั่นเอง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลได้ประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อควบคุมการระบาด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐมนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาครนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา (ก่อนที่ล่าสุดจะประกาศเพิ่มอีก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา)

พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้ประกาศมาตรการเยียวยาลูกจ้างและกิจการในจังหวัดเหล่านี้ ซึ่งรอบนี้ต้องถือเป็นการจัดระเบียบฐานข้อมูลในระบบ “ประกันสังคม” โดยรัฐบาลกำหนดให้แรงงานและนายจ้างที่ยังไม่ได้เข้าระบบ ต้องมีการลงทะเบียนเข้ามาอยู่ในระบบด้วย ภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนจะกดปุ่มจ่ายเงินเยียวยาต่อไป

โดย “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง มีข้อมูลอยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้ว

ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระไม่มีนายจ้าง ต้องขึ้นทะเบียน และเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว ก็จะจ่ายเยียวยาได้ง่ายขึ้น เพราะจะต้องมีการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้

ทั้งนี้ ในการขึ้นทะเบียนจะให้แสดงหลักฐาน ว่าประกอบอาชีพอะไร เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง ก็ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ไปแสดงตัวตน ว่าทำงานในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ

หรือหมอนวดแผนโบราณ ก็ต้องมีใบรับรองการผ่านการฝึกอบรมมา หรือนักร้อง นักแสดง ก็ต้องนำรูปถ่ายที่เคยทำงานมาแสดงเป็นหลักฐาน

“ยอมรับว่าวัตถุประสงค์หลักของการออกมาตรการเยียวยารอบนี้ ส่วนแรก คือการช่วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ขณะเดียวกันก็ต้องการนำแรงงานที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจะส่งผลดีกับกลุ่มดังกล่าว ในแง่ของการได้รับความคุ้มครองในอนาคต เนื่องจากการเข้าไปอยู่ในระบบมาตรา 40 ก็มีผลประโยชน์ต่อตัวแรงงาน อย่างเวลาขาดรายได้ หรือไม่สบาย ก็มีเงินช่วยเหลือ”

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า วงเงินที่เตรียมไว้เยียวยาแรงงานรอบนี้อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ราว 1 ล้านราย และแรงงานอีก 5 ล้านราย

นอกจากนี้ ในระยะถัดไป จะมีการเข้าไปจัดระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังอยู่นอกระบบภาษีต่าง ๆ เพื่อดึงให้เข้ามาอยู่ในระบบ ผ่านการออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งจะใช้การกระตุ้นให้เอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบเข้ามาขึ้นทะเบียนโดยความสมัครใจ

“การดึงเข้ามาอยู่ในระบบ ก็เพราะว่าหากในอนาคตมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นอีก ถ้าเรามีฐานข้อมูลอยู่ในระบบแล้ว ก็จะทำให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนได้ง่ายขึ้นและทันท่วงที” เลขาธิการ สศช.กล่าว

ทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามของภาครัฐในการต้อนคนเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่ที่รัฐบาลจะได้มีข้อมูลที่มากพอเอาไว้ประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการต่อไปในอนาคตนั่นเอง