นักวิเคราะห์หั่นจีดีพีโต 1.3% ห่วงโควิด-หนี้ครัวเรือน ทำเศษฐกิจฟื้นตัวช้า

ธปท.เผยผลสำรวจมุมมองนักวิเคราะห์ต่อเศรษฐกิจไทย คาดจีดีพีปีนี้ปรับลดลงเหลือ 1.3% และปี’65 อยู่ที่ 3% มองปัญหาโควิด-19 ยืดเยื้อ-หนี้ครัวเรือนกดดันการฟื้นตัว ระบุค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานมุมมองภาวะเศรษฐกิจไทยจากความเห็นนักวิเคราะห์ ผลการสำรวจ Analyst Survey ครั้งที่ 2 (ไตรมาส 3 ของปี 2564) โดยสรุป ดังนี้ 

โดยนักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 1.3% และ 3.0% ตามลำดับ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จะทรงตัวจากไตรมาส เดียวกันปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกเดือน เม.ย. 64 ที่ยืดเยื้อและรุนแรง 

ขณะที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นเครื่องยนต์หลัก ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธุรกิจในภาคการผลิตมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิต จากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 

ส่วนปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ นโยบายการเงินที่อยู่ในระดับผ่อนคลาย มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจและประชาชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติช้ากว่าการสํารวจครั้งก่อน โดยนักวิเคราะห์ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติหลังปี 2565 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่วนระยะเวลาที่ประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยมีทั้งกลุ่มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้และปีหน้า ภายใต้สถานการณ์ที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดลงต่ำกว่า 500 ราย

โดยนักวิเคราะห์คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2564 จากคาดการณ์ในรอบไตรมาส 2 ของปี 2564 อยู่ที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์