ล็อกดาวน์ทุบกำไร “หุ้นค้าปลีก” CPALL อ่วมสุดปิดร้านสะดวกซื้อ 8 ชั่วโมง

ล็อกดาวน์คุม “โควิด” ฉุดกำไรหุ้นค้าปลีกร่วง “บล.กสิกรไทย” คาดไตรมาส 4 ก็ยังคลายล็อกดาวน์ไม่ได้ 100% ประเมินกำไร 7 บริษัททรุด 15% เผย CPALL อ่วมสุดวูบกว่า 25% เหตุรายได้ร้านสะดวกซื้อเกินครึ่งอยู่ใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม แถมเจอสั่งปิดช่วง 2 ทุ่มถึงตี 4 ลุ้นรัฐงัด “ช้อปดีมีคืน” ปลุกกำลังซื้อปลายปี ฟาก “บล.เคทีบีเอสที” ประเมินกำไรห้างขายวัสดุก่อสร้างไม่แย่เท่า Q2/2563

นางสาวธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด เบื้องต้นทางฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทยได้ปรับประมาณการกำไรปี 2564 ของหุ้นกลุ่มค้าปลีกรวม 7 บริษัท คือ

1.บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) 2.บมจ.ซีพี ออลล์ (CP ALL) 3.บมจ.เซ็นทรัล รีเทลคอร์ปอเรชั่น (CRC 4.บมจ.ดูโฮม (DOHOME) 5.บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์(GLOBAL) 6.บมจ.โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) และ 7.บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO)

โดยคาดการณ์กำไรสุทธิรวม 35,200 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดไว้ที่ 41,400 ล้านบาท ลดลง 6,200 ล้านบาท หรือลดลง 14.98% โดยเฉพาะกำไรช่วงไตรมาส 3/2564 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์

“ต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศหากมีความรุนแรงขึ้นอาจจะมีผลต่อการขยายระยะเวลาประกาศล็อกดาวน์เพิ่มเติม และหากขยายพื้นที่ล็อกดาวน์เพิ่มอีกจะกระทบต่อดาวน์ไซด์ประมาณกำไรมากขึ้นไปด้วย

โดยประมาณการกำไรที่เราปรับลดลงเพราะมองว่าครึ่งหลังของปีนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นการฟื้นตัวแบบจริงจัง เพราะคงไม่เห็นการคลายล็อกดาวน์ให้คนกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ 100% แน่ ๆ จากเดิมที่คาดว่าจะเห็นในช่วงไตรมาส 4” นางสาวธรีทิพย์กล่าว

สำหรับ BJC ผลกระทบไม่มากเพราะมาตรการล็อกดาวน์โฟกัสแค่ 13 จังหวัด และกำหนดมาตรการประมาณ 22 วัน (ตั้งแต่ 12 ก.ค.-2 ส.ค.) ขณะที่การห้ามขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามีกำหนดเพียงแค่ 14 วัน

ดังนั้น ผลกระทบอาจจะอยู่ในระดับแค่ 1-2% แต่การที่ฝ่ายวิจัยได้ปรับลดประมาณการกำไรลงไปกว่า 13% สะท้อนภาพมุมมองการล็อกดาวน์ จำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่สูง และการระบาดของโควิด-19 ที่จะยังกระทบกำลังซื้อและการใช้ชีวิตของคนในประเทศ โดยคาดกำไร BJC ปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ 4,095 ล้านบาท

ขณะที่ CPALL ประเมินผลกระทบล็อกดาวน์ต่อประมาณการกำไรปีนี้ 2-3% โดยฝ่ายวิจัยปรับกำไรสุทธิเหลือ 11,000 ล้านบาท หรือลดลง 25.68% ถือว่าปรับลดลงค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ผลกระทบคล้ายกับ BJC เพียงแต่ผลกระทบต่อมาตรการรัฐมีมากกว่า เพราะสัดส่วนสาขาร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในเขต 13 จังหวัดเกินครึ่งของรายได้รวม และจำนวนชั่วโมงที่ต้องมีการปิดตามเวลา 20.00-04.00 น. ซึ่งเป็นช่วง peak hours

“ช่วงครึ่งปีหลัง CPALL จะยังไม่ค่อยฟื้นตัว ประกอบกับบริษัทลูก ได้รับผลกระทบไปพร้อม ๆ กันด้วย และภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากควบรวมกิจการโลตัสเข้ามาในพอร์ต” นางสาวธรีทิพย์กล่าว

ส่วน MAKRO ได้ปรับประมาณกำไรลงมาเหลือ 6,600 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่ถูกปรับลดลงค่อนข้างน้อย เพราะยังมีการบริโภคกลุ่มสินค้าจำเป็นอยู่ และได้ประโยชน์ทางอ้อมจากมาตรการคนละครึ่ง

แต่กำไรลดลงจากกำลังซื้อที่อ่อนแอจากการไม่ได้ขายในพื้นที่บางส่วน และจำนวนชั่วโมงที่เปิดขายได้น้อยลง รวมไปถึงผลกระทบจากการปิดร้านอาหารด้วย

ด้าน CRC ได้ปรับประมาณกำไรเหลือ 3,300 ล้านบาท แต่อาจยังมีดาวน์ไซด์จากปัจจุบันที่มีมาตรการเพิ่มเติมจากการปิดร้านอาหาร โดยก่อนหน้านี้ปรับลดกำไรลงมาแล้ว 13%

นางสาวธรีทิพย์กล่าวอีกว่า ส่วนหุ้นร้านสินค้าตกแต่งและวัสดุก่อสร้างอย่าง DOHOME ไม่ได้ปรับประมาณการจากก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบยังค่อนข้างจำกัด โดยส่วนใหญ่สัดส่วนรายได้สาขาจะอยู่ในต่างจังหวัดมากกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และการขายส่งและผ่านออนไลน์ยังพอทำได้อยู่

ประกอบกับตัวเลขครึ่งปีแรกถ้าประกาศออกมาเป็นไปตามคาด จะยังมีอัพไซด์กำไร ดังนั้น ยังคงคาดการณ์กำไรปีนี้ไว้ที่ 2,081 ล้านบาท

เช่นเดียวกับหุ้น GLOBAL ที่ปัจจัยคล้ายกันกับ DOHOME โดยคงคาดการณ์กำไรปีนี้ 2,900 ล้านบาท ส่วนหุ้น HMPRO ได้ปรับลดกำไรลงมาเหลือ 5,200 ล้านบาท เพราะร้านค้าบางส่วนในห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการ

ซึ่งโดยรวมสาขาโฮมโปรอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลค่อนข้างมาก ผลกระทบจากการควบคุมการเดินทาง ห้ามจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จะมีผลพอสมควร แต่ถ้าเฉพาะผลกระทบช่วง 14 วันไม่มากประมาณ 1-2%

ทั้งนี้ ปัจจุบันมาตรการรัฐช่วยเหลือยาวไปจนถึงไตรมาส 4 เพียงแต่แคมเปญที่ประชาชนให้ความสนใจมาก คือ โครงการคนละครึ่ง มากกว่า ยิ่งใช้ยิ่งได้ ดังนั้น กรอบวงเงินหรือความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นอย่างที่เคยประเมินไว้

“ดังนั้น อาจจะต้องหามาตรการใหม่ อย่างช้อปดีมีคืน มาดึงดูดผู้บริโภคในกลุ่มที่มีฐานภาษีสูงกว่าระดับที่ ยิ่งใช้ยิ่งได้ จ่ายคืนอยู่ 10-15% ถ้ามาตรการนี้ออกมาเชื่อว่าน่าจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น สะท้อนจากในอดีตและผลบวกต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าปีที่แล้วที่กระตุ้นยอดขายได้ในระดับ 5-10% ของเดือนที่มีมาตรการได้” นางสาวธรีทิพย์กล่าว

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที (KTBST) กล่าวว่า สถานการณ์ปีนี้มีความแตกต่างจากปีที่แล้ว เนื่องจากคนเริ่มคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ แต่ต้องแยกกันระหว่างหุ้น CRC กับหุ้น HMPRO และ DOHOME

โดยหากประเมิน CRC จากช่วงไตรมาส 2/2563 ที่ขาดทุนกว่า 2,500 ล้านบาท แต่ปีนี้ได้รับผลกระทบเฉพาะพื้นที่ ดังนั้น ผลกระทบในเชิงกำไรจะไม่ถึงขั้นขาดทุน โดยประมาณการกำไรไตรมาส 2/2564 ไว้ที่ 600 ล้านบาท

แต่ไตรมาส 3/2564 จะถูกกระทบสถานการณ์โควิดเต็ม ๆ อย่างไรก็ดี กำไรไม่น่าจะเลวร้ายเหมือนไตรมาส 2/2563 ไม่ขาดทุนเพราะยังมีอีกหลายธุรกิจช่วยพยุง

ขณะที่ HMPRO ช่วงที่ผ่านมารักษากำไรได้ 1,300-1,400 ล้านบาทต่อไตรมาส ถึงแม้ว่าจะเกิดโควิดแต่ห้างเปิดได้บางส่วน ฉะนั้นกำไรไตรมาส 3/2564 น่าจะลดลงแต่ไม่มาก


“พูดง่าย ๆ พวกห้างขายวัสดุก่อสร้างอย่าง HMPRO, DOHOME, GLOBAL กำไรไตรมาส 3/2564 จะต่ำกว่าไตรมาส 2/2564 แน่ ๆ แต่ไม่แย่ขนาดไตรมาส 2/2563” นายมงคลกล่าว