ชงรัฐจัดแพ็กเกจเยียวยาชุดใหญ่ อัดฉีดเงินด่วน-พักหนี้ยาวกู้เศรษฐกิจ

ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อปีที่สอง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงต่อเนื่องถึงกลางเดือน ส.ค. “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” หัวหน้าทีมวิจัยกรุงศรี หนึ่งในคณะอนุกรรมการ ศบศ. เสนอรัฐบาลเร่งปรับชุดนโยบายเยียวยาธุรกิจและประชาชน ต้องรีบอัดมาตรการชุดใหญ่สกัด “วิกฤตโรคระบาด” ลามสู่ “วิกฤตเศรษฐกิจ” เผยรัฐบาลต้องใช้ยาแรงมาครบ 3 องค์ประกอบ “เม็ดเงินมากพอ-ครอบคลุม-ยาว 6 เดือน” เผยหนี้สาธารณะแค่ 55% รัฐต้องก่อหนี้เพิ่มแทนประชาชน

ล็อกดาวน์ยาวทุบจีดีพี -0.5%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อยู่ในขั้นวิกฤตรุนแรง ผู้ติดเชื้อใหม่ทะลุ 1.8 หมื่นคนต่อวันแล้ว ซึ่งก็อยู่ในค่าเฉลี่ยที่ทีมวิจัยทำแบบจำลอง

ซึ่งในกรณีเลวร้าย (worst case) ประเมินว่าผู้ติดเชื้อจะขึ้นไปถึง 25,000 รายต่อวัน ประมาณกลางเดือน ส.ค. และอาจลากยากไปถึงปลายเดือน ส.ค.

โดยผลของการติดเชื้อนำมาสู่การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และระยะเวลาการล็อกดาวน์ก็คงต้องเลื่อนไปจากกลางเดือนสิงหาคมเป็นปลายสิงหาคม โดยที่ผ่านมาทีมวิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์จีดีพีเหลือปีนี้ 1.2% แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็คงมากกว่านี้ ซึ่งถ้าการล็อกดาวน์ยาวไปถึงปลายปี ก็จะทำให้จีดีพีของไทยปีนี้จะหดตัว -0.5% เรียกว่าทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี

“วันนี้ความเสี่ยงขาลงมีมากกว่าความเสี่ยงด้านขาขึ้นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาจากเครื่องยนต์เครื่องจักรเดียวที่ประเทศไทยมีคือการส่งออก ขณะที่ตอนนี้การติดเชื้อเริ่มกลับมาอเมริกา และอังกฤษ การส่งออกคงไม่ได้บวกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งความท้าทายของประเทศไทยมีอยู่มาก วิกฤตครั้งนี้เป็นเกมยาว ขณะที่ในประเทศก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ตัวเลขติดเชื้อก็ยังไม่ได้ชะลอ มองไปในโลกก็เริ่มติดเชื้อเพิ่ม ท้ายที่สุดก็จะกลับมากระทบเศรษฐกิจไทย”

เศรษฐกิจไทย K ขาลง

ดร.สมประวิณกล่าวว่า ต้องยอมรับเศรษฐกิจไทยมีลักษณะ K shaped recovery มีคนที่ดีมาก ๆ และคนที่แย่มาก ๆ ตัวเลขจีดีพีเป็นแค่ค่าเฉลี่ย แต่ในภาวะแบบนี้ดูภาพรวมไม่ได้ เพราะมีคนที่ยากลำบากจำนวนมาก และไส้ในเรื่องการส่งออกเป็น K shaped ขาขึ้น เป็นธุรกิจที่ใช้ทุนเยอะ ใช้เครื่องจักรเยอะ และเกี่ยวข้องกับคนไม่มาก ขณะที่ภาคบริการ เป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ผู้ประกอบการรายย่อย และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

นอกจากนี้จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัทเกี่ยวข้องกับส่งออกประมาณ 70% เป็นบริษัทต่างชาติ ทำให้คนไทยที่ได้รับประโยชน์จากส่งออกมีไม่มาก ถามว่า ส่งออกดีแล้วคนไทยรู้สึกมั้ย ไม่รู้สึกหรอก

“ถ้ามองในรูปตัว K บอกได้เลยว่า เส้นขาขึ้นจะเป็นเส้นบาง ๆ คนส่วนน้อย และอีกขาเป็นขาใหญ่และอ้วนเป็น K ขาลง ซึ่งเป็นตัวบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ยิ่งไปกว่านั้นฝั่งที่เป็นขาลงเกี่ยวข้องกับแรงงาน ซึ่งแปลว่าคนไม่มีเงิน ไม่มีกิน ซึ่งถ้าโรงงานเครื่องจักรที่ไม่มีเงิน เครื่องจักรก็หยุดไป แต่ถ้าเป็นคนไม่มีเงิน คนไม่มีกิน สวัสดิการสุขภาพและความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตจะยิ่งแย่ลง เป็นเรื่องใหญ่มากที่ประเทศไทยมีปัญหาอยู่เวลานี้”

ส่งออก เครื่องยนต์ตัวสุดท้าย

อย่างไรก็ดี “การส่งออก” เป็นเครื่องยนต์สุดท้ายที่มีอยู่ของไทย ขณะที่ตอนนี้ดีมานด์กำลังซื้อในโลกยังมีมหาศาล เพราะเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปฟื้นตัว ดังนั้นประเด็นไม่ใช่ว่าขายของไม่ได้ แต่ประเด็นจะมีสินค้าขายหรือไม่ เพราะตอนนี้เริ่มเห็นปัญหาจากฝั่งซัพพลายภาคการผลิต คือ 1.ผลิตไม่ได้ เพราะวัสดุขาดแคลน และ 2.การติดเชื้อในโรงงาน ทำให้ผลิตไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไม่มีสินค้าที่จะขายมากกว่า

อันนี้เป็นความเสี่ยง และถ้าเป็นนาน ๆ เราไม่มีของขาย คนซื้อต้องไปซื้อจากประเทศอื่น ยิ่งจะทำให้ปัญหาลากยาว และต้องถามว่า ในวันที่เรากลับมาผลิตและขายสินค้าได้ คนซื้อหรือคู่ค้าจะกลับมาซื้อกับเราหรือเปล่า ดังนั้นหากเครื่องยนต์ส่งออกเกิดดับ การฟื้นตัวคงไม่ใช่ K และจะโดนกระทบถ้วนหน้า

“วิกฤตโรค” ลาม “วิกฤตเศรษฐกิจ”

ดร.สมประวิณกล่าวว่า ถ้าวิกฤตลากยาวเท่าไร จะยิ่งสร้างความเสียหายถาวรให้กับระบบเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ วิกฤตนี้จุดเริ่มต้นจากโรคภัยไข้เจ็บ เพราะฉะนั้นเราพยายามรักษาให้อยู่ในวิกฤตโรคระบาด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ในโลกนี้ ค้นพบแล้วว่า วิธีดับไฟไม่ให้ลามจาก “วิกฤตโรคระบาด” มาเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจ” ทำอย่างไร มีตัวอย่างแล้ว จากสหรัฐ จีน สิงคโปร์ ยุโรป อังกฤษ ซึ่งใช้วิธีการนโยบายการเงินการคลังจะต้องยิ่งใหญ่มหาศาล ที่วันนี้ฟื้นขึ้นมา ปรับจีดีพีขึ้นแล้วขึ้นอีก แต่สำหรับไทยตอนนี้หลายสำนักปรับลดคารการณ์จีดีพี สวนทางกับประเทศเหล่านั้น

“หากวิกฤตโรคระบาดลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งที่เราเห็นคือบริษัทจะล้มหายตายจาก เจ๊งออกไปจากระบบเศรษฐกิจเรื่อย ๆ คนจะว่างงานถาวรมากขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าภาพนั้นเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นภาคเศรษฐกิจจริงแล้ว ยังจะลามไปภาคการเงิน แปลว่าหนี้ที่พักไว้ วันนั้นเขาไม่มีปัญญาใช้คืนแล้ว ซึ่งก็จะลามไปภาคการเงิน จะยิ่งไปกันใหญ่ แต่วันนี้เรายังไม่เห็น เพราะทุกคนยังสาละวนอยู่กับเรื่องการติดเชื้อ แต่ถ้าวันที่คนติดเชื้อลดลง และเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ผมว่าวันนั้นเรื่องจะเริ่มแดงขึ้น วันนี้จึงต้องรีบป้องกัน เพราะขึ้นกับว่าเราจะทำอย่างไร”

เสนอออกแพ็กเกจเยียวยาชุดใหญ่

ดร.สมประวิณเสนอว่า การที่จะสกัดวิกฤตโรคระบาดไม่ให้ลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลต้องเปลี่ยนชุดนโยบายในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ เพราะมาตรการที่ออกไปวันนี้ต้องบอกว่า ยังไม่เพียงพอ เพราะทุกคนยังได้รับผลกระทบอยู่อย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นการดำเนินนโยบายจะต้องมีมากขึ้น เพื่อสกัดไม่ให้ลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ

โดยนโยบายต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ 1.ต้องมากพอ เพราะวันนี้ความไม่แน่นอนมีมากกว่าความแน่นอน ทำเหลือไว้ดีกว่าขาด เพราะท้ายที่สุดแม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มทรงตัว ก็ยังต้องใช้เม็ดเงินกระตุ้น

2.นโยบายต้องครอบคลุม วันนี้จะยังทำนโยบายเฉพาะเจาะจง (target) ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ เพราะวันนี้ 100 คน ได้รับผลกระทบ 99 คน ดังนั้นอย่าไปกังวลใจว่าจะมีคน 1 คนที่ไม่ได้รับผลกระทบและจะได้ประโยชน์ เพราะยิ่งออกแบบนโยบายช้าคน 99 คนจะยิ่งสาหัส

3.นโยบายต้องยาวพอ อย่าคิดว่าเดือนหน้าหรือ 3 เดือนสถานการณ์จะดีขึ้น ต้องคิดไปเลยว่าต้องอยู่กับโรคระบาดอีก 6 เดือน และทำนโยบายไปเลย 6 เดือน

“เพราะถ้าทำนโยบายแบบโรลไปเรื่อย ๆ ทีละเดือน เทียบกับการประกาศไปครั้งเดียว 6 เดือน ซึ่งใช้เงินเท่ากัน แต่ประสิทธิภาพของนโยบายไม่เท่ากัน การบอกไปเลยว่าจะช่วย 6เดือน จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะคนจะคาดการณ์ได้ วางแผนการใช้ชีวิตได้ จะช่วยให้นโยบายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้เงินมาก็ใช้เลย เพราะรู้ว่าเดือนหน้าจะมีเงิน ก็จะทำให้เงินหมุนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ”

ดร.สมประวิณย้ำว่า นโยบายทำเหลือดีกว่าทำขาด เพราะวันที่เศรษฐกิจไม่ดีมันเป็นการประคองอุปสงค์ให้มีตังค์ใช้กิน แต่ในวันที่เศรษฐกิจฟื้นแล้วมันเปลี่ยนนัยเป็นการกระตุ้น จะเห็นว่ากรณีสหรัฐ วันนี้เศรษฐกิจฟื้นแล้ว แต่นโยบายช่วยเหลือยังไม่หมด จ่ายเงินช่วยครัวเรือนถึงเดือนกันยายนเลย

มาตรการเร่งด่วนหยุดเลือดไหล

หัวหน้าทีมวิจัยกรุงศรีระบุว่า สำหรับมาตรการเร่งด่วนตรงจุดและทำได้เร็วคือ มาตรการทางการคลัง เร่งอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.ให้เงินช่วยเหลือโดยตรงกับภาคธุรกิจ รายย่อยและเอสเอ็มอี และคนที่จ้างงานตัวเอง เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเกี่ยวกับภาคบริการทั้งหลาย ซึ่งต่างประเทศมีให้เงินก้อนและรายเดือน

2.ให้เงินสนับสนุนการจ้างงานด้วย เพราะถ้าธุรกิจอยู่ได้ แรงงานที่อยู่ในภาคธุรกิจก็จะยังอยู่ได้ มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และ 3.ให้เงินช่วยเหลือกับภาคครัวเรือน เพราะได้รับผลกระทบด้วย และอย่ากังวลใจว่าเป็นผู้ประกอบการอิสระ ต้องให้หมด และต้องให้มากกว่าเดิม

และนอกจากการเติมเงินเข้าไปช่วยแล้ว ก็ต้องช่วยลดภาระรายจ่ายด้วย นอกจากค่าน้ำ ค่าไฟที่รัฐบาลช่วยแล้ว เพราะประชาชนยังมีภาระ ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าร้าน ซึ่งสามารถดูข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่างบดุลของครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง นอกจากนี้ฝั่งการเงินที่ช่วยเหลือแล้วคือพักหนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการรักษาเติมอาหารเข้าไป และหยุดไม่ให้เลือดไหล ซึ่งถ้าทำแบบนี้สามารถประคองเศรษฐกิจไปได้

“สำหรับนโยบายทั้งหมดที่ออกมาตอนนี้ ต้องบอกว่า เป็นนโยบายก่อนที่จะมีเวฟ 3-4 แต่พอมีการระบาดเวฟ 3-4 ชุดนโยบายต้องเปลี่ยนใหม่หมด เพราะนโยบายที่ออกมาช่วยฟื้นฟูคนที่กำลังป่วย แต่วันนี้เรากลับมาติดเชื้ออีกรอบกำลังวิกฤต ต้องใช้ยาแรงให้หายติดเชื้อก่อน และหลังจากนั้นค่อยไปฟื้นฟู”

ดร.สมประวิณกล่าวว่า ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นและมีความหวังกับเศรษฐกิจไทย ถ้ารัฐบาลเร่งทำมาตรการออกมาให้เพียงพอ เพราะมาตรการยังมีช่องว่างที่จะให้ทำอีกมาก ขณะที่ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทก็ยังไม่ได้ใช้ รวมทั้งเราก็เห็นข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ว่า เขาทำนโยบายอะไรบ้าง และทำแล้วได้ผล ซึ่งถ้ารัฐบาลทำได้ก็น่าจะได้ผล และเศรษฐกิจไทยก็จะไปได้ แต่ขอให้ทำเท่านั้นเอง

อย่าห่วงก่อหนี้เพราะวิกฤต

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับ 90.5% ของจีดีพี มองว่าตอนนี้ไม่อยากให้เอามาเป็นประเด็นที่กังวลใจ เพราะหนี้ครัวเรือนมี 2 มิติ มิติแรกคือพฤติกรรมคนเปลี่ยน ชอบกู้มาใช้จ่าย มากกว่าที่จำเป็น เป็นเรื่องระยะยาวซึ่งต้องแก้ความรู้ทางการเงิน

อีกมิติคือในยามที่ลำบาก ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีต้องยอมให้คนเป็นหนี้ เพราะรายรับลดลง แต่ต้องกินต้องใช้ และเมื่อไรที่เศรษฐกิจเปิด ทุกอย่างกลับไปเป็นปกติค่อยกลับมาคุยกันว่าจะใช้หนี้ยังไง

เช่นเดียวกันกับหนี้สาธารณะระดับ 55% ยังไม่กังวลใจ เพราะยังต่ำอยู่ เทียบกับประเทศอื่นในโลก และมีช่องว่างให้ทำนโยบายอยู่มาก แต่ที่สำคัญคือต้องดูว่าเอาเงินไปทำอะไร ถ้าเอาเงินไปทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และถ้าเศรษฐกิจดีแล้วเก็บภาษีมาใช้หนี้ได้ แต่ถ้าบอกว่าไม่อยากกู้ เพราะไม่อยากเป็นหนี้ ท้ายที่สุดเศรษฐกิจไม่ดี หนี้ที่เคยเป็นอยู่แล้ว ดีไม่ดีใช้ไม่ได้ด้วยซ้ำไป

“นอกจากนี้ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ว่าหนี้ครัวเรือน 90.5% และหนี้สาธารณะ 55% แปลว่ารัฐเข้มแข็ง แต่คนในประเทศอ่อนแอ ดังนั้นสิ่งที่ช่วยได้คือรัฐเข้ามาเป็นคนระดมทุนเอง และส่งต่อช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งบังคับให้เขาใช้หนี้ ถ้าพักปีหนึ่งได้ก็พัก เพราะถ้าเอาเงินมาใช้หนี้ แทนที่จะเอาไปใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ”

เตือนภัย เศรษฐกิจไทย Long Crisis

สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดร.สมประวิณ กล่าวว่า โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกสักพัก และคาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ปลายปี 2566 ซึ่งปีหน้าทั้งปียังไม่ฟื้น คืออีก 2 ปีกว่า ดังนั้นถ้าไม่ทำนโยบายให้มีประสิทธิภาพ สุดท้ายจะเป็น long covid และไทยก็จะเป็น long crisis ซึ่งจะสร้างแผลเป็นให้ระบบเศรษฐกิจ

เพราะถ้าไม่สามารถประคองให้บริษัทและคนไม่ออกไปจากตลาดแรงงาน เมื่อเศรษฐกิจเปิดแล้ว นักท่องเที่ยวมาอยากจะซื้อของก็ซื้อไม่ได้ ซึ่งศักยภาพจีดีพีเศรษฐกิจจะไม่เหมือนเดิม และจะสร้างความเสียหายถาวรให้กับระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้นการจะประคองเศรษฐกิจรัฐบาลต้องทำควบคู่ 2 ส่วน และต้องใส่เงินเพิ่มจากที่ทำอยู่อีก 2 เท่า โดยส่วนแรกประคองเพื่อความอยู่รอดและกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกส่วนหนึ่งต้องกันเอาไว้ เพื่อที่จะทรานส์ฟอร์มประเทศสำหรับโลกหลังโควิด-19

“เพราะวันนี้เราเหมือนอยู่ในถ้ำ โลกก่อนที่เราจะเดินเข้าถ้ำไป และโลกที่เรากำลังจะเดินออกไป ไม่เหมือนกัน มันต้องมีการทรานส์ฟอร์มประเทศ เช่น สหรัฐและยุโรปใช้เงินมหาศาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานชนิดใหม่เกี่ยวกับดิจิทัล ความยั่งยืน (ESG) ถ้าเราไม่ทรานส์ฟอร์มประเทศและผู้ประกอบการ ท้ายที่สุดแล้วถ้าออกจากถ้ำไป คนซื้อสินค้าไม่เหมือนเดิมแล้ว คำแนะนำผมจึงต้องมี 2 ทีม ทีมหนึ่งปั๊มหัวใจให้ฟื้น อีกทีมเป็นทีมฟื้นฟู พยายามทำกายภาพฟื้นฟู เน้นกล้ามเนื้อในโลกใหม่” ดร.สมประวิณกล่าวทิ้งท้าย

พร้อมระบุว่า ขณะที่ทีมวิจัยกรุงศรีกำลังทำรายงานวิจัยแนวทางป้องกันวิกฤตโรคระบาดที่จะลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ โดยศึกษาจากแนวทางของประเทศต่าง ๆ ที่ทำแล้วสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้สำเร็จ โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์จะนำเสนอข้อมูลเพื่อส่งต่อผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้กับรัฐบาลไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ