สคฝ.แจงข้อสงสัยลดวงเงินคุ้มครอง ชี้ผู้ฝากเงินอย่าตระหนก

เงินบาท

สคฝ.ยันประชาชนไม่ต้องตกใจลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ชี้ เป็นไปตามกฎหมายมาตรฐานสากล ย้ำฐานะแบงก์ไทยยังแกร่ง ระบุไม่พบสัญญาณคนย้ายเงินฝากผิดปกติ  พร้อมเดินหน้าศึกษาคุ้มครอง e-Money

วันที่ 7 สิงหาคม 2564 นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 11 ส.ค.64 วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะปรับจาก 5 ล้านบาท ลงมาเหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งการปรับลดวงเงินคุ้มครองเป็นลำดับตามความเหมาะสม และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยสคฝ.ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 51 และมีเป้าหมายคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับความคุ้มครองครอบคลุมกว่า 98.05% โดยคุ้มครองทั้งบัญชีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล บัญชีร่วมและบัญชีเพื่อ ขณะที่ปัจจุบันสคฝ.มีกองทุนคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 131,339 ล้านบาท

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์

โดยสคฝ.จะทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี หลังจากมีการจำหน่ายทรัพย์หากเกิดกรณีที่สถาบันการเงินภายใต้กำกับดูแลทั้ง 35 แห่งถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยผู้ฝากเงินจะได้รับการคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องยืนคำร้อง ซึ่งสคฝ.จะโอนเงินคืนอัติโนมัติภายใน 30 วัน เพียงแค่ผู้ฝากเงินมีบัญชีพร้อมเพย์เท่านั้น หรือในกรณีต่างชาติจะคืนเป็นเช็ค ซึ่งลำดับการชำระหนี้ จะเป็นเจ้าหนี้ทางด้านภาษี หรือกรมสรรพากร เจ้าหนี้แรงงาน-พนักงานธนาคาร และถัดลงมาเป็นจะเป็นผู้ฝากเงิน

ทั้งนี้ รูปแบบการคุ้มครองเงินฝากจะคิดจากเกณฑ์ลูกค้าแต่ละรายในแต่ละธนาคาร เช่น ผู้ฝากจะมีกี่บัญชีเงินฝากก็ได้ในธนาคารหนึ่งวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทได้รับคุ้มครองเต็มจำนวน หรือมีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ก็ได้รับความคุ้มครอง 1 ล้านบาท ส่วนที่เกินไม่ได้รับความคุ้มครอง ถัดไปผู้ฝากรายเดิมที่บัญชีอยู่ในธนาคารที่สอง-สาม ก็เป็นไปหลักเกณฑ์เดียวกัน ขณะเดียวกันเงินฝากส่วนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับคืน เพียงแต่ต้องรอการชำระบัญชีเสร็จสิ้นและรอตามลำดับการชำระคืนเจ้าหนี้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสคฝ.ยังไม่พบสัญญาณการย้ายเงินฝากที่ผิดปกติอย่างนัยสำคัญ โดยจากข้อมูลในช่วง 6 ปีย้อนหลังเงินฝากมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่จะเห็นการย้ายเงินฝากจากธนาคารใหญ่ไปธนาคารเล็ก หรือจากธนาคารเล็กไปธนาคารใหญ่ ซึ่งเป็นการย้ายเงินฝากเปลี่ยนแปลงตามการเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งในช่วง 4-5 ที่ผ่านมาพบว่าอัตราเงินฝากเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6% แม้ว่าในปีที่ผ่านมาการเติบโตจะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังคงมีการเติบโตอยู่ที่ระดับ 2%

“การคุ้มครองเงินฝาก เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล จึงจำเป็นต้องมี เช่นเดียวกับต่างประเทศที่มี แต่ถามว่าฐานะสถาบันการเงินตอนนี้ค่อนข้างแข็งแรงและแข็งแกร่ง ซึ่งการทบทวนวงเงินคุ้มครองจะปรับไปตามกฎหมายคุ้มครอง แต่หากในอนาคตประชาชนมีรายได้เพิ่ม และมีทรัพย์เวลธ์เพิ่มขึ้น วงเงินคุ้มครองก็อาจจะปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมได้ เพราะการทบทวนวงเงินจะต้องข้อมูลหลายด้านในการตัดสินใจ ซึ่งวงเงิน 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน พบว่าครอบคลุมคนจำนวนมาก และคนที่มีมากกว่า 1 ล้านบาทมีความเข้าใจในการลงทุนประเภทอื่นที่ซับซ้อนพอสมควร จึงเป็นที่มาในการทบทวนวงเงินคุ้มครอง”

นายทรงพล กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการขยายความคุ้มครองไปยังบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา แต่จะเห็นว่าบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทุกบัญชีมีการกำหนดให้เก็บเงินของลูกค้าไว้ และห้ามนำมาใช้ ดังนั้น การศึกษาจะมี 2 รูปแบบ คือ เงินที่ถูกเก็บไว้ในธนาคาร และ 2.บริษัท e-Money ที่ประสบปัญหาขาดทุนและต้องปิดตัวลง จะมีกระบวนการจ่ายคืนลูกค้าอย่างไร จึงมีการศึกษาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร