“ออมสิน” รุกปล่อยกู้รายวัน ช่วยกลุ่มฐานราก คิดดอกเบี้ย 1-1.5%

ออมสิน

ออมสินกางแผนครึ่งปีหลัง เร่งดำเนินการ 3 เรื่องช่วยประชาชนฐานราก ทั้งปล่อยสินเชื่อรายวันให้กู้ 2 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยราว 1-1.5% ต่อเดือน รุกธุรกิจขายฝากที่ดิน พร้อมจัดฝึกอาชีพประชาชนหลังครึ่งปีแรกท่ามกลางวิกฤตโควิดทำผลงานอัดสินเชื่อเข้าระบบเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชน-ภาคธุรกิจกว่า 2.7 แสนล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 จะยังคงเน้นเข้าไปช่วยเหลือดูแลประชาชนฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชน สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

วิทัย รัตนากร

โดยหลัก ๆ แล้วจะมีอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การปล่อยสินเชื่อรายวัน ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชั่น MyMo เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อรายวันได้อย่างถาวร ซึ่งจะเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรง ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จได้เร็วที่สุดภายในสิ้นปี 2564 นี้

ทั้งนี้ รูปแบบสินเชื่อรายวันนั้นจะทำให้เหมือนกับลูกค้ามีวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี หรือ O/D ที่สามารถขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ภายใต้วงเงินที่มีอยู่ และคิดอัตราดอกเบี้ยรายวันตามยอด

โดยจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ ไม่ใช่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมี 3-4 ส่วนที่ต้องทำ ทั้งการพัฒนาระบบ MyMo การพัฒนาระบบเก็บเงิน และระบบภายในด้วย โดยจะต้องหาพาร์ตเนอร์มาทำหน้าที่เก็บเงินให้ด้วย ซึ่งต้องทำทั่วประเทศ ทุกตลาด

“การทำสินเชื่อรายวันจะต้องมีการปรับระบบ ปรับกระบวนการคอนเน็กชั่นด้วยเช่น แม่ค้าตามตลาดกู้สินเชื่อไป 10,000 บาท ไปขายสินค้าแล้วได้กำไร 12,000 บาท แล้วจะนำ 2,000 บาทมาคืน จะทำอย่างไรให้เงิน 2,000 บาท ฝากเข้าแบงก์ได้ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินทีละวัน เราจึงต้องคิดถึงเรื่องระบบทั้งหมด เพราะหากฝากตู้ ATM ก็ไม่ได้มีทุกที่ที่จะฝากได้ หรือจะให้มีคนเดินเก็บ แต่ช่วงนี้โควิดระบาดหนักก็จะไม่ไหว” นายวิทัยกล่าว

นายวิทัยกล่าวว่า การคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายวันจะไม่ได้สูงมาก แต่ก็สูงกว่าการให้สินเชื่อปกติ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง โดยอาจจะคิดอัตราดอกเบี้ยเดือนละ 1-1.50% ซึ่งจะถูกกว่าหนี้นอกระบบ เช่น กู้เงิน 10,000 บาท ถ้าทั้งปีไม่ชำระหนี้เลย คิดอัตราดอกเบี้ยปีละ 12% ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ย 3,500 บาทเป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ขณะนี้ยังไม่ได้สรุป แต่คาดว่าจะให้วงเงินสินเชื่อได้สูงสุดรายละไม่เกิน 20,000 บาท

นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังยังจะผลักดันบริการสินเชื่อที่ดินและการขายฝาก โดยอาจจะเริ่มดำเนินธุรกิจช่วงต้นปี 2565 หรือประมาณช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งโครงสร้างสินเชื่อที่ดินนั้น หากดำเนินงานเหมือนกับสินเชื่อมีที่มีเงิน ก็จะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน แต่หากจะดำเนินการให้ครอบคลุม จะต้องเข้าดูเรื่องขายฝากด้วย โดยขายฝากจะต้องโอนที่ดินมาก่อน แตกต่างจากสินเชื่อที่ดิน ที่จะต้องเอาที่ดินมาจำนอง

“ออมสินอยากจะทำทั้ง 2 ส่วน ทั้งสินเชื่อที่ดิน และขายฝากที่ดิน เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุม อย่างไรก็ดี 2 ส่วนนี้ ในหลักการไม่ควรดำเนินการภายใต้ธนาคาร เพราะไม่ได้พิจารณาหลักเกณฑ์เครดิตบูโร และรายได้ก็ไม่ค่อยตรงกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้น อาจจะต้องทำเป็นโครงสร้างแยกออกมา แต่ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก” นายวิทัยกล่าว

ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวด้วยว่า ส่วนอีกเรื่องที่จะดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง คือ การสร้างอาชีพให้ประชาชนฐานราก ซึ่งต้องให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นก่อนจึงจะเริ่มดำเนินการ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 2564 ธนาคารออมสินมีสินทรัพย์รวม 2.86 ล้านล้านบาท มีเงินฝาก 2.45 ล้านล้านบาท และสินเชื่อรวม 2.19 ล้านล้านบาท

โดยท่ามกลางวิกฤตโควิดที่สถาบันการเงินต่างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารออมสินได้มีบทบาทปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างเต็มที่ โดยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 2.7 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนและภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ สามารถบริหารจัดการหนี้เสียอยู่ในระดับไม่เกิน 2% รวมถึงเพิ่มการกันสำรองส่วนเกิน (general provision) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งอีกกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) สูงถึง 205.15%

นอกนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินแก่ลูกค้ารายย่อยเป็นจำนวนมากกว่า 3.2 ล้านคน ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เป็นต้น

โดยในจำนวนนี้ธนาคารได้สร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับประชาชนมากกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตทางการเงิน หรือมีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์อนุมัติปกติของสถาบันการเงิน

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กนั้น ธนาคารได้ช่วย SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 162,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan ธนาคารออมสิน สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว และสินเชื่ออิ่มใจ (ธุรกิจร้านอาหาร) เป็นต้น รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” ที่ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น