รัฐทุ่มหมดหน้าตัก 5 แสนล้าน อัดแพ็กเกจพยุง “แรงงาน-ธุรกิจ”

รัฐทุ่มหมดหน้าตัก 5 แสนล้าน

“สภาพัฒน์-คลัง-แบงก์ชาติ” เร่งประสานนโยบายการเงิน-การคลัง ทุ่มหมดหน้าตัก 5 แสนล้านบาท เตรียมมาตรการชุดใหญ่พยุง “แรงงาน-ธุรกิจ-ลูกหนี้รายย่อย” รับมือต้องล็อกดาวน์คุมโควิดยืดเยื้อ ขยายเวลา-เพิ่มสาขาอาชีพเยียวยา ธปท.งัดมาตรการบีบแบงก์ “แฮร์คัต” ให้ลูกหนี้ แลกได้สิทธิผ่อนเกณฑ์จัดชั้น “หนี้เสีย” ลดภาระตั้งสำรอง พร้อมสั่งแบงก์ทำแผนช่วยลูกหนี้แบบอยู่รอดยาว 2-3 ปี ชี้สถานการณ์วิกฤตต้องเร่งดำเนินมาตรการรับมือเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการ

สภาพัฒน์เตรียมมาตรการ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงได้เมื่อใด ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของทางสาธารณสุข แต่หากพิจารณาตัวเลขการติดเชื้อขณะนี้ก็น่าจะถึงจุดสูงสุด (พีก) แล้ว หวังว่าตัวเลขจะค่อย ๆ ลดลง อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถไว้ใจกับตัวเลขดังกล่าวได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดเป็นเรื่องของโรคระบาด ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคาดการณ์ได้ โดยสภาพัฒน์ก็ต้องเตรียมมาตรการไว้เพื่อดูแลประชาชนกรณีที่สถานการณ์โควิดลากยาว ภายใต้วงเงินที่มีอยู่จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

“วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ล่าสุดอนุมัติไปแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือเรื่องการศึกษา 3.2 หมื่นล้านบาท และเยียวยาแรงงานในพื้นที่ล็อกดาวน์อีก 3 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ใช้เงินส่วนนั้นมาจ่ายไปก่อนอีกส่วนหนึ่งด้วย” นายดนุชากล่าว

ต่ออายุโครงการจ้างงาน

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า ในช่วงที่ต้องควบคุมการระบาดจะต้องมีการช่วยเหลือการจ้างงานเพิ่มเติม โดยสภาพัฒน์อยู่ระหว่างให้ทีมงานเข้าไปพิจารณาโครงการที่สนับสนุนการจ้างงาน ที่จัดทำไปก่อนหน้านี้โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะต้องประสานไปยังเจ้าของโครงการว่า ประสงค์จะจ้างแรงงานต่อหรือไม่ หรือจะขยายจำนวนคนเพิ่มเติม ซึ่งจะสามารถช่วยแรงงานได้อย่างน้อย 2-3 แสนคน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการจ้างงาน

“หากหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องการจ้างงานเพิ่มก็เสนอเข้ามาได้ โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการที่สนับสนุนการจ้างงานเดิมมีอยู่ 5-6 โครงการ ส่วนใหญ่มีระยะเวลา 1 ปี มาถึงตอนนี้ก็ใกล้จะจบโครงการแล้ว เราจึงต้องเข้ามาดูว่าจะดำเนินงานอย่างไรต่อไป ซึ่งเดิมคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ในระยะเวลา 1 ปี และคนที่เข้าร่วมโครงการก็น่าจะหางานใหม่ได้แล้ว แต่พอถึงตอนนี้สถานการณ์โควิดยังระบาดอยู่ จึงน่าจะต้องจ้างงานต่อเนื่องไป” นายดนุชากล่าว

แพ็กเกจ “การเงิน-การคลัง”

นายดนุชากล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีมาตรการทางการเงินที่จะออกมาดูแลประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเห็นมาตรการออกมาเมื่อไหร่ เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุป โดยหากทำก็ถือว่าเป็นวงเงินค่อนข้างใหญ่ จึงต้องพิจารณาในรายละเอียดให้รอบคอบ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือการจ้างงานเอสเอ็มอีที่เคยมีแนวทางว่า รัฐจะช่วยสนับสนุนจ้างงานเอสเอ็มอีคนละครึ่ง (copay) นั้น ยืนยันว่ายังคงจะดำเนินการอยู่ โดยขณะนี้สภาพัฒน์อยู่ระหว่างการทำมาตรการ ส่วนจะเมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากจะต้องรอให้สถานการณ์โควิดขณะนี้เบาบางลงก่อน

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมการ หากในระยะต่อไปต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยการประกาศขยายจังหวัดล็อกดาวน์เพิ่มก็จะพิจารณาความช่วยเหลือเยียวยาแรงงานเพิ่มเติมตามด้วย รวมถึงต้องมาพิจารณาเพิ่มเติมว่า จะมีสาขากลุ่มอาชีพส่วนใดบ้างที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังช่วยเหลือแรงงานครอบคลุม 9 สาขาอาชีพ ตามมติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

“หากมีสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ก็จะมีการพิจารณาดูแลเพิ่มเติม”

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวอีกว่า ในระยะยาวยังมีการกันวงเงินไว้สำหรับกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินมาตรการได้ จะต้องรอให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นก่อน ส่วนการปรับมาตรการต่าง ๆ เช่น คนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ จึงค่อยปรับมาตรการ

ธปท.จูงใจแบงก์แฮร์คัต

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมออกมาตรการจูงใจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 หลายระลอก ทั้งลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบการธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวมากขึ้น รวมถึงต้องการเห็นสถาบันการเงินมีการแฮร์คัตหนี้ ปรับเงินงวดการชำระให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้มากขึ้น รวมถึงการลดดอกเบี้ย ไปจนถึงการลดต้นลดดอก

“การปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านมายังเป็นการยืดเวลาชำระ หรือพักหนี้ให้สั้น ๆ ซึ่ง ธปท.อยากเห็นการปรับโครงสร้างอย่างมีคุณภาพ มีการแฮร์คัต ลดผ่อนชำระต่องวด และลดดอกเบี้ยด้วย” นายรณดลกล่าว

สั่งทำแผนอุ้มลูกหนี้ยาว 2 ปี

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในเบื้องต้น ธปท.ได้สั่งการให้สถาบันการเงินจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้า โดยแบ่งเป็นแผนระยะสั้น กลาง และยาว มาให้แบงก์ชาติพิจารณา โดยสมาคมธนาคารไทยจะมีการประชุมในรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ ร่วมกันก่อน เพื่อหาข้อสรุปก่อนจะพูดคุยกับ ธปท.อีกครั้ง

ทั้งนี้ สำหรับแผนระยะสั้นจะเริ่มตั้งแต่ที่แบงก์ชาติมีประกาศมาตรการเพิ่มเติม ไปถึงเดือนมิถุนายน 2565 และระยะกลางนับตั้งแต่กลางมิถุนายน 2565-ธันวาคม 2566 และมาตรการระยะยาวตั้งแต่มกราคม 2567 เป็นต้นไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากที่มีการหารือกับแบงก์ชาติ มาตรการช่วยลูกหนี้จะต้องยาว ลึก ยืดหยุ่น และกว้าง โดยคำว่า “ยาว” คือ ขยายระยะเวลาการช่วยลูกหนี้ การชำระหนี้ และปรับค่างวดลง ส่วน “ลึก” จะเน้นวิธีการชำระ เช่น การชำระขั้นต่ำ หรือการชำระแบบขั้นบันได เป็นต้น ขณะที่ “ยืดหยุ่น” เพื่อรองรับความไม่แน่นอน ให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องการเซ็นสัญญาข้อตกลงต่าง ๆ ของลูกค้า และสุดท้าย “กว้าง” จะเป็นการลงทะเบียนรับความช่วยเหลือ จะต้องทำผ่านช่องทางดิจิทัลได้

ธปท.บีบแบงก์ “แฮร์คัต” ลูกหนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของมาตรการเพิ่มเติมที่แบงก์ชาติต้องการให้แบงก์แฮร์คัต คือ ลดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ให้ลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจากตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ปี 2563 ธปท.ได้ให้แรงจูงใจธนาคารเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยผ่อนปรนเงื่อนไขเรื่องการจัดชั้นหนี้ เพื่อลดภาระการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้กับธนาคารทุกแห่ง ซึ่งมาตรการผ่อนปรนดังกล่าวจะครบกำหนดในสิ้นปีนี้

“โดยขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับเงื่อนไข โดยจะให้สิทธิผ่อนปรนเงื่อนไขการจัดชั้นหนี้ให้เฉพาะธนาคารที่ยอมแฮร์คัตหนี้กับลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าเท่านั้น ส่วนธนาคารไหนแค่ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ลูกค้าอย่างเดียว ธปท.จะไม่ให้สิทธิในเรื่องการจัดชั้นหนี้ โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพูดคุยในรายละเอียดว่า สัดส่วนการแฮร์คัตจะต้องเท่าไร หรือลดดอกเบี้ยจะเท่าไรถึงจะได้รับสิทธิเรื่องการจัดชั้นหนี้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องช่วยลูกหนี้ในการแฮร์คัตหนี้กับลดดอกเบี้ย แบงก์ทำอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะต้องดูว่าลูกค้ารอดหรือไม่ ซึ่งจะทำเหมือนปี’40 แต่ตอนนี้สถานการณ์แตกต่างกัน ซึ่งเบื้องต้นคิดว่า ธปท.จะปรับการผ่อนผันการจัดชั้นหนี้ให้กับเฉพาะแบงก์ที่ช่วยแฮร์คัตกับลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าจริงจัง ซึ่งต้องไปคุยในไส้ในรายละเอียดว่า เกณฑ์ควรจะอยู่ที่เท่าไรถึงเหมาะสม และต้องมองหลายด้าน

งัดมาตรการภาษีเสริมทัพ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากขณะนี้ประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีประสบปัญหาขาดรายได้มายาวนาน 1-2 ปี ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางกระทรวงการคลังและ ธปท.จึงมีการหารือที่จะมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลูกหนี้ให้รอดแบบระยะยาว รวมถึงการแฮร์คัตเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ เพราะที่ผ่านมามาตรการซื้อเวลาจะเป็นการพักหนี้ ยืดหนี้ระยะสั้น

นอกจากการปรับเงื่อนไขการได้สิทธิผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้แล้ว ก็จะมีการนำ “มาตรการภาษี” มาจูงใจแบงก์และน็อนแบงก์ที่อยู่ภายใต้กำกับมีการแฮร์คัตหนี้ โดยให้สถาบันการเงินสามารถนำความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปรับ “ลดหนี้” มาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้

“วิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นการช่วยทั้งแบงก์ปล่อยกู้และผู้กู้ เพราะในส่วนของแบงก์ ถ้าลูกหนี้มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลายเป็นหนี้เสียจำนวนมาก ในที่สุดก็จะกระทบต่อสถานะแบงก์เช่นกัน”

ลดภาระลูกหนี้ทุกกลุ่ม

แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นการช่วยลดภาระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อยที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังจะมีการลดภาระในส่วนของ “หนี้นักเรียน” คือ หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้ครู โดยจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาระยะยาว เช่นเดียวกับสถาบันการเงิน ในการลดหนี้ ปรับวิธีการเก็บหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้เกิดปัญหาการผิดนัดชำระ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหนี้ครู มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งกระทรวงศึกษาฯ สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีการหารือเพื่อหาแนวทางร่วมกัน

เพิ่มค้ำประกัน “สินเชื่อฟื้นฟู”

นอกจากนี้ ธปท.และกระทรวงการคลังได้มีการหารือถึงการปรับปรุงเงื่อนไข “สินเชื่อฟื้นฟู” เพื่อให้ธนาคารกล้าปล่อยกู้มากขึ้น โดยจะปรับเพิ่มเรื่องการ “ค้ำประกัน” และลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากเดิมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รับภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อโครงการ นอกจากนี้ยังมีการผ่อนปรนเงื่อนไขให้ลูกหนี้มีโอกาสรับ “วงเงิน” สินเชื่อมากขึ้น

ทั้งนี้ ธปท.รายงานความคืบหน้าว่า ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2564 มีการอนุมัติ “สินเชื่อฟื้นฟู” ให้ผู้ประกอบการแล้ว จำนวน 85,872 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 28,224 ราย

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินถือเป็นตัวเสริมเท่านั้น โดยเป็นการช่วย “ลดภาระ” ให้ประชาชน และผู้ประกอบการ ขณะที่มาตรการทางการคลังเป็นการ “เติมเงิน” ช่วยแรงงานและธุรกิจ เพื่อประคองสถานการณ์ในภาวะที่ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ซึ่งเนื่องจากสถานการณ์ระบาดยังรุนแรงและยืดเยื้อ ทำให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมมากขึ้น


โดยเฉพาะหาก ศบค.มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ยาวออกไปถึงเดือนกันยายน ในการจัดทำมาตรการเยียวยาหลังจากนี้ก็จะต้องยาวครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการพิจารณาขยายสาขาอาชีพที่ได้รับเงินเยียวยา อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ทางกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพที่จะมีการหารือกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอสภาพัฒน์