ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ จับตาประชุมเฟด

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นักลงทุนจับตาประชุมเฟดสิ้นเดือน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/8) ที่ระดับ 33.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/8) ที่ระดับ 33.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนแห่งสหรัฐได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐประจำเดือนสิงหาคมที่ระดับ 70.2 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 81.2

อีกทั้งกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยดัชนีราคานำเข้าของสหรัฐประจำเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น ณ ระดับ 0.6% อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะจัดตั้งขึ้นในวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้ โดยตลาดคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยและแนวโน้มการปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ชัดเจนมากขึ้นในการประชุมดังกล่าว

สำหรับปัจจัยในประเทศวันนี้ (16/8) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาสที่ 2/2564 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2% โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวในภาคการส่งออก การให้การบริการด้านอาหาร ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 แสนคน จากประมาณการเดิม 5 แสนคน

นอกจากนี้ สศช.ยังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีในปีนี้ลงโดยจากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 1.5%-2.5% ปรับลดคงเหลือ 0.7%-1.2% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.32-48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (16/8) ที่ระดับ 1.1796/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/8) ที่ระดับ 1.1747/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งได้รับแรงหนุนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจแห่งสหภาพยุโรปแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์

โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (13/8) สถาบัน Destatis ได้เปิดเผยดัชนีราคาส่งออกของเยอรมนีประจำเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 1.1% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.9% อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตของสวิตเซอร์แลนด์ประจำเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 0.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.3% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1779-801 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1786/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/8) ที่ระดับ 109.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/8) ที่ระดับ 110.28/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (16/8) สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่น (GDP) ประจำไตรมาส 2/2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่ม ณ ระดับ 0.1%

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจขยายตัวไม่มากนักในไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.30-63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐานของสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (17/8), ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (17/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหภาพยุโรป ประจำเดือนกรกฎาคม (18/8), รายงานจำนวนใบอนญาตก่อสร้างของสหรัฐ ประจำเดือนกรกฎาคม (18/8), จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ ประจำเดือนสิงหาคม (19/8), ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐจากธนาคารกลางฟิลาเดลเฟีย ประจำเดือนสิงหาคม (19/8), ดัชนียอดขายปลีกของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนกรกฎาคม (20/8) และดัชนีผู้ผลิตของเยอรมนีประจำเดือนกรกฎาคม (20/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 1.00/1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.80/5.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ