ธ.ก.ส.ดัน 9 สถาบันการเงินชุมชน คัดกรองแก้หนี้รากหญ้า-ตรวจหลักประกัน

ธ.ก.ส.ตั้งเป้า 6 เดือนหลัง ยกระดับสถาบันการเงินชุมชน 9 แห่ง รองรับกฎหมายใหม่คลอด หนุนเป็นตัวแทนธนาคารช่วยคัดกรองลูกค้า-แก้หนี้-ตรวจสอบหลักประกันกู้เงิน ฟันธงสินเชื่อปีนี้เข้าเป้า 86,000 หมื่นล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีบัญชี 2560/2561 นี้ (ต.ค. 60-มี.ค. 61) ธ.ก.ส.มีแผนยกระดับสถาบันการเงินชุมชน เพื่อรองรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันการเงินชุมชนที่จะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้ได้ให้ ธ.ก.ส.ทั้ง 9 ภาค คัดเลือกสถาบันการเงินชุมชนขึ้นมาภาคละ 1 แห่ง เพื่อนำร่อง ซึ่งสถาบันการเงินชุมชนเหล่านี้นอกจากจะทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชนแล้ว ยังจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ ธ.ก.ส.ในการทำกิจกรรม/ธุรกรรมต่าง ๆ ด้วย

อภิรมย์ สุขประเสริฐ

“ตอนนี้กำลังคุยกันว่า กิจกรรมที่สถาบันการเงินชุมชนจะทำได้แทน ธ.ก.ส. จะมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น บริหารจัดการหนี้แทนธนาคาร โดยจะให้สถาบันการเงินชุมชนที่พร้อมทดลองบริหารจัดการหนี้แทนธนาคารในช่วง 6 เดือนหลังนี้ ขณะเดียวกันก็ให้มีบทบาทกลั่นกรองลูกค้าแทนธนาคาร หรือการตรวจสอบหลักประกันเงินกู้ เป็นต้น” นายอภิรมย์กล่าว

ขณะเดียวกันในช่วง 6 เดือนหลัง ธ.ก.ส.ยังมีแผนผลักดันส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เป็นกลไกหลักในการจำหน่ายสินค้าชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อชุมชนเป้าหมายทั่วประเทศ 77 แห่งแล้ว แต่จะนำร่องประมาณ 30 ชุมชนก่อนในปีบัญชีนี้

ทั้งนี้ ธนาคารกำลังเตรียมการยกระดับส่วนงานที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ ขึ้นมาเป็นสำนักท่องเที่ยวชุมชน เพื่อทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายอภิรมย์กล่าวว่า ปีบัญชี 2560/2561 นี้ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 86,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย โดยธนาคารได้มีการแยกกลุ่มลูกค้าสินเชื่อไว้ด้วยกัน 3 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มแรก การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการด้านการเกษตร ซึ่งตั้งเป้าปีนี้จะขยายสินเชื่อส่วนนี้เพิ่มขึ้น 45,500 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มที่ 2 จะเป็นการยกระดับเกษตรกรขึ้นเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ โดยตั้งเป้าขยายสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มที่ 3 เกษตรกรรายย่อย (small) ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วย

ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ภายในเดือน พ.ย.นี้ จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินอีก 5,000 ล้านบาท หลังจากวงเงินที่เคยได้รับอนุมัติมาแล้ว 5,000 ล้านบาท ใกล้เต็มวงเงิน

นายอภิรมย์กล่าวด้วยว่า หลังจากช่วง 6 เดือนแรก (เม.ย.-ก.ย. 60) ธ.ก.ส.จ่ายสินเชื่อเข้าสู่ภาคเกษตรไปแล้ว 316,000 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 6 เดือนหลัง (ต.ค. 60-มี.ค. 61) จะมีการจ่ายสินเชื่ออีก 480,000 ล้านบาท

“ครึ่งปีหลังจะมีทั้งสินเชื่อเพื่อการผลิตและสินเชื่อสถาบัน อาทิ สินเชื่อเพื่อเข้าไปดูแลมันสำปะหลัง 1.8 หมื่นล้านบาท สินเชื่อที่เกี่ยวกับการจัดการเรื่องข้าว 1.25 หมื่นล้านบาท สินเชื่อข้าวโพดอีก 1,500 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งทั้งปีบัญชี 2560/2561 นี้ เราตั้งเป้าสินเชื่อโต 7% ก็คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย” นายอภิรมย์กล่าว

รายงานจากกระทรวงการคลังระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อรับรององค์กรการเงินชุมชนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยจะกำหนดให้องค์กรการเงินชุมชนมีหน้าที่ในการบริหารจัดการและรับผิดชอบเงินของสมาชิกเอง โดยมีธนาคารผู้ประสานงานสนับสนุนด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และไม่มีบทบัญญัติให้หน่วยงานรัฐหรือธนาคารผู้ประสานงานมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินของประชาชน หรือกำหนดให้องค์กรการเงินชุมชนต้องแบ่งปันกำไรหรือนำส่งเงินให้กับหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด


นอกจากนี้ องค์กรการเงินชุมชนจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากธนาคารผู้ประสานงาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการให้บริการทางการเงินขององค์กรการเงินชุมชน การตรวจสอบด้านการบริหารจัดการและการบริหารความเสี่ยงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก และการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานให้แก่องค์กรการเงินชุมชนอย่างมีเสถียรภาพต่อไป