ขยายหนี้สาธารณะ ทะลุ 70% โครงสร้างประเทศไทยรองรับได้หรือไม่ ?

วันนี้นายกฯจะประชุมขยายเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี ทำให้เกิดคำถามว่าโครงสร้างประเทศจะรองรับหนี้ระดับนี้ได้หรือไม่ ?

วันที่ 20 กันยายน 2564 กรณีแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่า วันนี้ เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 10 นัดประชุมเพื่อพิจารณาขยายเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60% ต่อจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ช่วงโควิดและหลังโควิด เป็นการชั่วคราว

ก่อนหน้านี้ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หากจะขยายไปที่ระดับ 70% ต่อจีดีพี ถือเป็นระดับที่โครงสร้างประเทศยังรองรับได้ เนื่องจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคของไทยยังค่อนข้างดี จึงควรขยายกรอบเพดานหนี้ไว้เผื่อไว้

ซึ่งในต่างประเทศทุกคนมีการปรับเพิ่มหมด หากประเทศไทยไม่ขยายเพดานก็จะพลาดสร้างโอกาสการเติบโตและรับมือโลกหลังโควิด-19 เพราะการก่อหนี้เพิ่ม หรือการใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มองว่าจะเป็นการสร้างรายได้และการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน

ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรีที่เสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมภายใต้เม็ดเงิน 7 แสนล้านบาท อยู่ในมาตรการเยียวยาเท่านั้น แต่ยังต้องมีการกระตุ้นเพิ่มสำหรับ “มาตรการฟื้นฟู” เนื่องจากการปิดร้านค้า หรือโรงแรมเป็นเวลานาน จำเป็นต้องการเม็ดเงินในการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง รวมถึง “มาตรการปรับตัว” รับโลกหลังโควิด-19 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น สหรัฐ ที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า new economy เป็นต้น

“มาตรการเยียวยา ฟื้นฟู และปรับตัว ที่วิจัยกรุงศรีเสนอ จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินพอสมควร ดังนั้น การขยายเพดานหนี้เผื่อไว้เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งมองว่านักลงทุนเองก็จะเข้าใจในการขยายกรอบครั้งนี้ แต่การขยับเพดานแล้วจะต้องคิดและวางแผนก่อนว่าการกู้เงินไปใช้เพื่ออะไร และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะในท้ายที่สุดจะช่วยในเรื่องของความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตระยะยาว แต่หากกู้เงินมาเพื่อเป็นเงินโอนให้กับประชาชน ตรงนั้นจะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว และไม่สร้างประสิทธิภาพต่อระบบเศรษฐกิจ”

ดร.สมประวิณกล่าวอีกว่า นอกจากวางแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบเพดานที่ขยายแล้ว จะต้องวางแผนเรื่องการหารายได้ เพื่อชำระหนี้ ซึ่งปกติรายได้จะกลับมาเข้าเมื่อเศรษฐกิจเติบโตได้ โดยรายได้จะมาจากการขยายฐานภาษี ซึ่งจะมาจากกิจกรรมของคนที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบอีกจำนวนมาก

โดยจากงานวิจัยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุไว้ว่า การจัดเก็บภาษีควรจะอยู่บนฐานสินทรัพย์มากกว่าฐานของรายได้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการช่วยกระจายความมั่งคั่งของประเทศ และลดการกระจุกตัวของกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง หากมีการจัดเก็บภาษีในรูปแบบดังกล่าว

ขยายเพดานหนี้แค่ “ชั่วคราว”

ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงเงื่อนไขการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นไม่เกิน 70% ว่า เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจะเป็นการขยายแบบ “ชั่วคราว” เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขต้องกลับมาอยู่ในต่ำกว่า 60% ของจีดีพีภายใน 10 ปี และต้องเสนอแผนการเพิ่มรายได้ภาษีเป็น 20% ของจีดีพี ภายใน 10 ปี ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3-5% และกรอบรายจ่ายงบประมาณไม่เกินปีละเท่าไรเข้ามาด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลที่เข้ามาต่อจากรัฐบาลนี้ บริหารการเงิน การคลังภายใต้ข้อจำกัดและกรอบดังกล่าว และป้องกันการทำนโยบายประชานิยม แจกเงินเพื่อสร้างฐานเสียง และต้องแยกมาตรการการเงินที่ไม่มีประสิทธิผล กับการให้เงินสวัสดิการ ซึ่งจำเป็นและควรมีการปรับระบบสวัสดิการให้ทั่วถึงและมีความยั่งยืนด้วย ซึ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มีความจำเป็น ไม่ทำไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงต้นทุนในการบริหารจัดการหลังวิกฤตโควิด