ประยุทธ์ นัดวันนี้ ขยายหนี้สาธารณะ ทะลุเพดานเป็น 70 % ต่อจีดีพี

พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ถกขยายวงเงินหนี้สาธารณะ จาก 60 % เป็นไม่เกิน 70 %

วันที่ 20 กันยายน 2564 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วันนี้ (20 ก.ย.) เวลา 13.30 น. นายกรัฐมนตรี พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 10 นัดประชุมเพื่อพิจารณาขยายเพดานหนี้สาธารณะ จาก 60 % ต่อจีดีพี เป็น ไม่เกิน 70 % ต่อจีดีพี เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ช่วงโควิดและหลังโควิด เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าว มี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นรองประธาน และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง,ผู้ว่าแบงก์ชาติ,เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ,ผอ. สำนักงบฯ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยถึงเงื่อนไขการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ต่อจีดีพี เป็น “ไม่เกิน 70%” ว่า เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจะเป็นการขยายแบบ “ชั่วคราว” เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขต้องกลับมาอยู่ในต่ำกว่า 60% ของจีดีพีภายใน 10 ปี และต้องเสนอแผนการเพิ่มรายได้ภาษีเป็น 20% ของจีดีพี ภายใน 10 ปี ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3-5% และกรอบรายจ่ายงบประมาณไม่เกินปีละเท่าไรเข้ามาด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลที่เข้ามาต่อจากรัฐบาลนี้ บริหารการเงิน การคลังภายใต้ข้อจำกัดและกรอบดังกล่าว และป้องกันการทำนโยบายประชานิยม แจกเงินเพื่อสร้างฐานเสียง และต้องแยกมาตรการการเงินที่ไม่มีประสิทธิผล กับการให้เงินสวัสดิการ ซึ่งจำเป็นและควรมีการปรับระบบสวัสดิการให้ทั่วถึงและมีความยั่งยืนด้วย ซึ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มีความจำเป็น ไม่ทำไม่ได้ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงต้นทุนในการบริหารจัดการหลังวิกฤตโควิด

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องสร้างนโยบายการเงินกับความยั่งยืนทางการคลัง โดยมีช่องว่างหรือ “พื้นที่ทางการคลัง” เตรียมไว้สำหรับรับวิกฤตในโลกหลังยุคโควิด ซึ่งอาจจะเกิดวิกฤตอีกเมื่อไรก็ได้ จะได้ไม่ซ้ำรอยที่ผ่านมา เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ต้องลด VAT เป็น 7% จนปัจจุบันไม่เคยปรับขึ้น ต้องต่ออายุทุกปี เพราะไม่มีรัฐบาลไหนขึ้นภาษีแล้วเสียคะแนนเสียงทางการเมือง


ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องวินัยการเงินการคลังเพิ่มเติม และทบทวนแผนการคลัง และจัดทำแผนสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ การก่อหนี้ผูกพัน งบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณ สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือ ไปจากที่กาหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ และสัดส่วนตามที่กาหนดไว้