SCBX เปิดสงครามการเงิน แปลงร่างท้าชนธุรกิจทุกสนามรบ

SCBX

กลุ่มไทยพาณิชย์ เขย่าวงการธุรกิจการเงิน ทลายกำแพงธนาคาร ตั้ง SCBX เป็นยานแม่ขับเคลื่อนสู่เทคคอมปะนี ลดสเกลธุรกิจธนาคาร แยก “เครดิตการ์ด-สินเชื่อบุคคล-จำนำทะเบียน” ตั้งบริษัทย่อยปลดล็อกเกณฑ์สำรองแบงก์ จับมือ 3 วงการ “CP-AIS-MGC” ขยายอาณาจักรธุรกิจ สร้างฐานลูกค้าโตก้าวกระโดด 200 ล้านคน วงในชี้กลยุทธ์แตกบริษัทตั้ง “เถ้าแก่น้อย” ดันเข้าตลาดหุ้นเป็นการ Unlock Value จับตาการแข่งขันร้อนแรงทุกสนามรบ

ทลายกำแพงแบงก์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่มีอายุ 115 ปี ได้ปรับโครงสร้างครั้งสำคัญเพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจ โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัทได้มีมติเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างธุรกิจในการจัดตั้งบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้งเพื่อเป็น “ยานแม่” พาให้กลุ่มไทยพาณิชย์ก้าวสู่โลกใหม่ที่ไม่จำกัดอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป

ตามแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น “ธนาคารไทยพาณิชย์” จะมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ SCBX และในวันที่ 15 พ.ย. 2564 จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติทำการสวอปหุ้นกับ SCB และเพิกถอนธนาคารไทยพาณิชย์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้ทรานส์ฟอร์มผ่านยุทธศาสตร์ กลับหัวตีลังกา เพื่อให้ไทยพาณิชย์เติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาว แต่ผ่านมา 4-5 ปี พบว่าการทรานส์ฟอร์มที่อยู่บนโครงสร้างธนาคารมีข้อจำกัด ทำให้ศักยภาพของทั้งกรุ๊ปทำได้ไม่เต็มที่ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง SCBX ขึ้นมาเป็นยานแม่” นายอาทิตย์กล่าว

ก้าวสู่เทคคอมปะนี

ซีอีโอ SCB ประกาศว่า สำหรับวิสัยทัศน์ใน 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2568 ของกลุ่มไทยพาณิชย์คือก้าวสู่การเป็น “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค” ที่มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านคน จากปัจจุบัน 16 ล้านคน พร้อมกับการทำกำไรเพิ่มขึ้น 1.5-2 เท่า ด้วยมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาท

โดยความร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายธุรกิจ และการปรับโครงสร้างธุรกิจที่จะมีการแตกบริษัทย่อยออกมา 15-16 บริษัท เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ พร้อมกับการผลักดันบริษัทเหล่านั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

“ธนาคาร” ลดความสำคัญ

“ปี 2568 จะเป็นการมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปจะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจในแบบที่เป็นตัวกลาง (intermediaries) เก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลง และจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม”

นายอาทิตย์กล่าวว่า แนวโน้มของการถูกดิสรัปต์จะชัดเจนมากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า SCB จึงต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก

“SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศและระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้”

แยกพอร์ตสร้างรายได้

นายอาทิตย์กล่าวว่า โครงสร้างภายใต้ SCBX จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. Cash cow ธุรกิจที่สร้างรายได้และทำกำไร จะเป็นธุรกิจธนาคาร ประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) และบริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด

และ 2. New Growth กลุ่มธุรกิจที่สร้างการเติบโตใหม่ จะเน้นการเติบโตโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังในเรื่องของฐานเงินทุน และผู้ฝากเงิน โดยการเดินเน้นการทำงานสั้น มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุน สามารถเลือกกลุ่มการเติบโตหรือ segment product ได้ ทำให้การดิสรัปต์น้อย โดยให้ธนาคารสามารถเดินต่อไปได้ด้วยความมั่นคง และลูกค้าจะไม่สับสนว่าธนาคารทำอะไรอยู่

แตกธุรกิจเปิดน่านน้ำใหม่

ซีอีโอ SCB กล่าวว่า ธุรกิจภายใต้ SCBX จะเน้นการเติบโตใน 2 พื้นที่คือ 1.Blue Ocean ตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จะไม่เน้นการขยายสาขาไปต่างประเทศ แต่จะเน้นการเติบโตในตลาดที่มีโอกาส เช่น ธุรกิจรายย่อย (Retail) อย่างบริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (Card X) ซึ่งเป็นการโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน แยกตัวออกมาจากธนาคาร ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีการสร้างรายได้จากการขยายไปในระดับรีจินอล โดยมองเป้าหมายไปที่ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

และ 2.การสร้าง Platform Ecosystem ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะนำร่องจาก “โรบินฮู้ด” ที่จะผลักดันเป็นรีจินอลแพลตฟอร์ม เพื่อแข่งกับแพลตฟอร์มระดับโลก เพราะการจำกัดตัวเป็นผู้เล่นในประเทศจะไม่ใหญ่พอที่จะแข่งขันได้ รวมถึงการเข้าสู่สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ผ่านบริษัท SCB10X และบริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ที่จะมีการทรานส์ฟอร์มเป็นเรือธงในการทำเรื่อง Digital Asset

รวมถึงการตั้งบริษัท SCB Tech X โดยร่วมทุนกับพับลิซิส เซเปียนท์ ซึ่งเป็นเทคคอมปะนีระดับโลกเข้ามาถือหุ้น 40% ทำเรื่องเพิ่มขีดความสามารถ และการดูแลแพลตฟอร์ม และเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชน

ผนึกกำลัง “ซีพี-AIS-MGC”

และอีกความเคลื่อนไหวสำคัญของ SCB คือการจับมือกับ 3 ยักษ์ธุรกิจของประเทศ ตั้งแต่การร่วมมือกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพีจี) จัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพเทคโนโลยีการเงินต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น

นายอาทิตย์กล่าวว่า ด้วยเน็ตเวิร์กของกลุ่มไทยพาณิชย์กับกลุ่มซีพีจะช่วยในการระดมเงินจากภายนอก ทำให้กองทุนมีขนาดใหญ่และเป็นที่จูงใจของสตาร์ตอัพดาวรุ่งมากขึ้น

นอกจากนี้ยังร่วมทุนกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS จัดตั้งบริษัท “AISCB” ในสัดส่วน 50:50 ทำเรื่องสินเชื่อดิจิทัลภายใต้ฐานลูกค้าของทั้ง 2 องค์กร และจะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์การเงินอื่น ๆ ต่อไป

รวมทั้งร่วมกับบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) (MGC Group) ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกยานยนต์รถหรู ตั้งบริษัทร่วมทุน Alpha X ทำธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่งกลุ่ม Luxury Car ซึ่งมองว่าเป็น Blue Ocean ที่มีโอกาสเติบโต โดยนายวศิน ไสยวรรณ จะออกจากตำแหน่งในธนาคารไปนั่งเป็นซีอีโอบริษัทนี้

นายอาทิตย์กล่าวว่า ในแต่ละบริษัทก็จะให้ผู้บริหารแบงก์ไปนั่งเป็นซีอีโอในลักษณะของการเป็นถ้าแก่น้อย โดยในส่วนของบริษัท Card X ก็จะแต่งตั้งให้นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ไปนั่งเป็นซีอีโอ ส่วนบริษัท Auto X ให้บริการเรื่องสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยจะขยายเข้าสู่กลุ่มรากหญ้าก็จะมีนางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ไปนั่งเป็นซีอีโอ

จับมือ AIS ปล่อยกู้ 40 ล้านคน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า น่าจะได้เห็นบริการการเงินดิจิทัลภายใต้ความร่วมมือระหว่างเอไอเอสและเอสซีบีได้ภายในต้นปีหน้า เพราะต้องทำแพลตฟอร์มและ data analytic ใหม่เพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงเงินกู้ได้ง่าย ๆ

“ผมพูดเสมอว่าเอไอเอสเชื่อในพลังของพาร์ตเนอร์ หากนำจุดแข็งแต่ละฝ่ายมาผสมผสานกันได้ก็จะยิ่งสร้างอิมแพ็กต์ ที่ผ่านมาจึงได้มีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในหลากหลายมิติ ทั้งเพื่อดูแลลูกค้าของเราทั้งคู่ และช่วยกันฟื้นฟูประเทศท่ามกลางความท้าทายตอนนี้ กับเอสซีบียังถือเป็นครั้งแรกของไทยที่เบอร์ 1 จากสองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คือ Telco และสถาบันการเงินประกาศร่วมทุน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และอื่น ๆ ในอนาคตที่จะตอบโจทย์คนในวงกว้าง เป็นการเพิ่มทางเลือกให้คนไทยที่จะไม่ต้องไปพึ่งสินเชื่อนอกระบบ”

ทั้งนี้ สำหรับฐานลูกค้าของเอไอเอส ณ ไตรมาส 2/2564 มีประมาณ 40 ล้านคน

Unlock Value บริษัทย่อยเข้า IPO

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของ SCB ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเป็น 200 ล้านราย จากปัจจุบัน 16 ล้านราย ซึ่งเป็นการขยายลูกค้าทั้งในไทยและอาเซียน เรียกว่าเพิ่มฐานลูกค้ากว่า 10 เท่า นอกจากนี้การตั้งเป้าเพิ่มมาร์เก็ตแคปแตะ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน ถือเป็นการ “Unlock Value” จากการให้บริษัทย่อยเข้าไอพีโอระดมทุนในตลาดหุ้น

และปัจจุบันกำไรส่วนใหญ่ 80-90% มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้ของธุรกิจใหม่ อาทิ Robin hood, AISCB, Alpha X, SCB 10X, SCB Abacus, Card X จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 ของกำไร

นายกรกชกล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือการแยกบริษัทย่อยออกมา พร้อมกับแผนผลักดันให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งหมดถือเป็นการ Unlock Value เช่น ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV) อยู่ใต้ธุรกิจแบงก์ SCB แค่ระดับ 0.8 เท่า ค่อนข้างต่างจากธุรกิจบัตรเครดิตในตลาดหุ้นไทยที่อยู่ประมาณ 3-4 เท่า

ดังนั้นส่วนต่างตรงนี้คาดว่าสร้าง Value ให้กับหุ้นได้ 25-30 บาท ในปี 2567 รวมไปถึงบริษัทร่วมทุน AISCB, Alpha X และ SCBS ที่จะผันตัวมาเป็นดิจิทัลแอสเสทเทรดดิ้งแพลตฟอร์ม

“ปัจจุบัน บล.กสิกรไทยได้ปรับราคาเป้าหมายหุ้น SCB ขึ้น 19% มาเป็นระดับราคาที่ 139 บาท โดยรวมผลการ Unlock Value ของธุรกิจบัตรเครดิตไปด้วย ส่วนธุรกิจอื่น ๆ ยังอยู่ในช่วงฟักไข่ ถ้ามีพัฒนาการจะมีรูมให้ค่อย ๆ ปรับเป็นแรงหนุนเพิ่มเข้ามาได้” นายกรกชกล่าว

ปลดล็อกเกณฑ์สำรองแบงก์

“เราชอบแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ SCB เพราะช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารงาน เพราะโครงสร้างเดิมการลงทุนที่เป็นสตาร์ตอัพ และธุรกิจน็อนแบงก์ ซึ่งถูกครอบด้วยหน่วยงานกำกับอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เมื่อแตกบริษัทย่อยออกมา ความเสี่ยงจากเกณฑ์กำกับของแบงก์จะถูกมองข้าม เพราะ SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ และจะแข่งขันกับเทคคอมปะนีรายอื่น ๆ ได้คล่องตัวขึ้น รวมไปถึงเรื่องเงินทุนมีความคล่องตัว ไม่ต้องกันสำรองเหมือนตอนเป็นแบงก์ โดยเงินทุนที่จัดสรรให้กลุ่ม Business Growth จะรับผลตอบแทนได้เร็วและคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งสนับสนุนภาพอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ในระยะยาว อย่างต่ำอยู่ที่ 15-16% จากระดับปัจจุบัน 12%” นายกรกชกล่าว

นายกรกชกล่าวว่า การที่ SCB ต้องการให้ซีอีโอบริษัทย่อย take ownership เป็นเถ้าแก่น้อย เพื่อผลักดันธุรกิจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้รูปแบบการบริหารงานแตกต่างไปจากเดิมของธุรกิจแบงก์คือ มีความ Aggressive ในการขยายพอร์ตและเข้มในการกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจในกลุ่มน็อนแบงก์ ทั้งบัตรเครดิต, จำนำทะเบียน

สำหรับการจัดตั้ง AISCB ร่วมทุนกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการสินเชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลจะคล้าย ๆ กับ LINE BK ของแบงก์สิกรไทย และโมเดลธุรกิจนี้ทาง บมจ.บัตรกรุงไทยก็กำลังจะทำ รวมถึง บมจ.อิออนธนสินทรัพย์ก็กำลังจะเปิดตัวเดือน ต.ค.นี้ ดังนั้นน่าจะแข่งขันรุนแรงหลังจากนี้

AISCB ท้ารบ LINE BK

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เสริมว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์ SCB ได้ตั้งเป้าธุรกิจสินเชื่อของ AISCB ไว้ที่ประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาท ภายใน 2 ปี ซึ่งหากตั้งไข่สามารถทำกำไรได้มาก จะนำ AISCB เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยต่อไป

“สินเชื่อที่ AISCB ตั้งเป้าขยายมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะประเมินจาก LINE BK จัดตั้งเมื่อเดือน ต.ค.2563 ดำเนินงานมาประมาณ 9 เดือน มีขนาดสินเชื่อ 9,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ามองยอดปล่อยสินเชื่อต่อราย 7,000-20,000 บาท ฐานลูกค้าราว 1-1.5 ล้านราย คิดเป็นแค่ 2-3% ของฐานลูกค้า AIS เท่านั้น” นายพิสุทธิ์กล่าว

ปลุกความร้อนแรงทุกสังเวียน

แหล่งข่าวจากแวดวงธนาคารมองว่าการปรับโครงสร้างของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นการย้ำภาพทิศทางการแข่งขันในรูปแบบใหม่ของธุรกิจการเงิน ซึ่งไม่ได้ไปในรูปแบบ “ธนาคารแม่” แต่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ในรูปแบบบริษัทเทคโนโลยีในการหาตลาดใหม่ โดยจะทำให้การแข่งขันในพื้นที่นั้น ๆรุนแรงขึ้น เช่น สินเชื่อดิจิทัลของ AISCB หรือการรุกตลาดเช่าซื้อ การทำเรื่องเหรียญดิจิทัล (Token) ซึ่งจะเป็น Next Generation รูปแบบการให้บริการที่ไม่ต้องปล่อยสินเชื่อ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินธุรกิจ และได้รายได้ที่ไม่ได้มาจากสินเชื่อ

แบงก์คู่แข่งไม่ได้อยู่นิ่ง

แหล่งข่าวกล่าวว่า ภาพการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สถาบันการเงินอื่นก็มองเห็นและพยายามทำอยู่เช่นกัน แต่โมเดลอาจจะไม่เหมือนกัน เช่น SCB ร่วมกับเอไอเอสตั้ง AISCB กสิกรไทยที่ร่วมมือกับไลน์ ตั้งกสิกร ไลน์ (LINE BK) แต่ทำอยู่ภายใต้ธนาคาร หรือในส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลกสิกรฯ ก็มี Kubix ที่ทำเรื่อง ICO Portal

“ภาพรวมธนาคารคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันใกล้ เพียงแต่ SCB ต้องการทำให้ตัวเองยืดหยุ่น เพื่อเดินเกมให้เร็วขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ตั้งบริษัทใหม่ เพื่อไม่ให้การทดลองในบริษัทต่าง ๆ มีผลย้อนกลับไปกระทบกับธนาคารแม่”

ขณะที่ธนาคารยังคงเป็นตัวสร้างรายได้หลักที่เป็นกอบเป็นกำให้กับไทยพาณิชย์อยู่ เพราะรายได้ที่มาจากธุรกิจใหม่อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ดังนั้นธนาคารยังคงอยู่และเป็นตัวสร้างรายได้หลัก ไม่ได้หายไป แต่การบริการจะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมภายใต้การเรียนรู้ในนวัตกรรมใหม่

ธปท.เปิดรับผู้เล่นหน้าใหม่

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “อนาคตโลกการเงิน” เมื่อ 13 กันยายนที่ผ่านมาว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาระบบการเงินไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ขณะที่มองไปข้างหน้าระบบการเงินทั่วโลกจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันให้บริการมากขึ้น และมาจากทิศทางใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น อาจจะมาจากผู้ประกอบการที่อยู่คนละเซ็กเตอร์ไม่เกี่ยวกับการเงิน หรือมาจากผู้ประกอบการข้ามชาติ หรือมาจากช่องทางใหม่ ๆ มากขึ้น รวมถึงอาจจะมาจากสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น บล็อกเชน เป็นต้น


สำหรับบทบาทของ ธปท.ในระยะข้างหน้าจะให้ความสำคัญกับการ Open Data มากขึ้นพร้อมเอื้อให้เกิดการแข่งขัน โดยให้มีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น และเปิดให้ผู้เล่นเดิมอย่างธนาคารพาณิชย์สามารถแข่งขันกับรายใหม่ ๆ ได้ด้วย