เปิดข้อมูลไอพีโอ ก.ล.ต.จ่ออนุมัติ 13 คำขอบริษัทเข้าตลาดหุ้นไทยปี’64

ก.ล.ต.รายงานข้อมูลหุ้นไอพีโอจ่อคิวเข้าระดมทุนปี’64 ช่วงที่เหลือรออนุมัติคำขอ 13 หลักทรัพย์ อยู่ในสถานะนับ 1 ไฟลิ่งไปแล้ว “KTBSTMR” เตรียมเสนอขาย 19-29 ต.ค.นี้ ส่วนหลักทรัพย์ที่เหลือยังไม่กำหนดวันเสนอขาย ด้าน 9 เดือนมีหุ้นไอพีโอรวมจำนวน 27 บริษัท มูลค่าเสนอขายรวม 1.18 แสนล้านบาท 

วันที่ 9 ตุลาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอไอพีโอ (IPO) จำนวนทั้งสิ้น 12 หลักทรัพย์ ซึ่งแบ่งตามหมวด ดังนี้

หมวดทรัพยากร
– บมจ.พรีเมียร์ แทงค์ คอร์เปอเรชั่น (PTC)
–  บมจ.บีบีจีไอ (BBGI)

หมวดบริการ
– บมจ.เฮทล์ลีด จำกัด (HL)

หมวดเทคโนโลยี
– บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส (TKC)
– บมจ.เบริล 8 พลัส (BE8)

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค
– บมจ.เวิล์ดเฟล็กซ์  (WFX)
– บมจ.โนวา ออร์แกนิค (NV)

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม
– บมจ.ที.อาร์.วี.รับเบอร์ โปรดักส์ (TRV)
-บมจ.พีซแอนด์ลิฟวิ่ง (PEACE)
– บมจ.บริทาเนีย (BRI)

หมวดอสังหาฯ-ก่อสร้าง
– ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯเพื่อธุรกิจโรงแรมและสิทธิการเช่าดีดีพีฮอลพิทอลลิตี้ ที่มีข้อตกลงการซื้อคืน (DTPHREIT)
– ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาฯเครือโรงพยาบาลบางประกอก (BHGRT)

ขณะที่สถานะนับ 1 คำขอ(ไฟลิ่ง) จำนวน 1 หลักทรัพย์ คือ  บมจ.ทีฑาก่อสร้าง (TEKA) ซึ่งอยู่ในหมวด อสังหาฯ-ก่อสร้าง (แสดงเฉพาะบริษัทที่ขอ Pre-consult ในปี 64)

นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมามีหลักทรัพย์ที่ได้รับการอนุมัติแล้วรวม 12 หลักทรัพย์ โดยมี 2 หลักทรัพย์ที่กำหนดวันเสนอขายแล้ว ได้แก่  บมจ.เฮงลิสซิ่ง แคปปิตอล (HENG) ในหมวดธุรกิจการเงิน เสนอขายแล้ววันที่ 6-8 ต.ค 64 ที่ผ่านมา และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาฯ เคทีบีเอสที มิกซ์ (KTBSTMR) ในหมวดอสังหาฯ-ก่อสร้าง จะเสนอขายวันที่ 19-29 ต.ค.64  ส่วนหลักทรัพย์ที่เหลือยังไม่กำหนดวันเสนอขาย

โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 30 ก.ย.64  หรือช่วง 9 เดือนแรกพบว่ามีหุ้นไอพีโอ (IPO) จำนวน งทั้งสิ้น 27 หลักทรัพย์ มูลค่าเสนอขายรวม 118,430.63 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าเสนอขายสูงสุด 3 อันดับแรกคือ

1.OR มูลค่า 54,000 ล้านบาท
2.TIDLOR มูลค่า 38,089 ล้านบาท และ
3.INETREIT มูลค่า 3,300 ล้านบาท เทียบกับปี 2563 ที่ 101,298.15 ล้านบาท

ทั้งนี้พบว่ามูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market capitalization) ของตลาดทุนและมูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้เริ่มปรับตัวในเชิงบวกนับตั้งแต่ปี 2563 กว่า 94% ของมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระดับทุน (Investment Grade)

ขณะที่มูลค่าไอพีโอ (IPO) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จากการมีบริษัทขนาดใหญ่เสนอขายหุ้น

สำหรับระดมทุนผ่านตราสารหนี้มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากภาคเอกชนออกตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงิน นอกจากนี้การระดมทุนผ่านทาง Crowd funding มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

โดยตลาดทุนไทยมีมูลค่าการซื้อ-ขายต่อวันและมูลค่าไอพีโอ (IPO) สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมูลค่าส่วนหนึ่งมาจากไอพีโอ ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ข้อมูลเปรียบเทียบ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564