ทำความรู้จัก “สินทรัพย์ดิจิทัล” ก่อนลงทุน-หลังยอดเปิดบัญชีเทรดพุ่ง 5 เท่า

ทำความรู้จัก “สินทรัพย์ดิจิทัล” ก่อนลงทุน

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เวลาพูดถึง “สินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ Digital Asset จะเป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งจริงๆ แล้วสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบไปด้วย “คริปโทเคอร์เรนซี” และ “โทเคน”

สำหรับคริปโทเคอร์เรนซี จะนิยมใช้ซื้อสินค้าและบริการ เรียกง่ายๆ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และบางส่วนใช้เป็นสินทรัพย์ทางเลือก มีการลงทุนเพื่อเก็งกำไร เพราะช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องสูง นักลงทุนทุกคนแสวงหาผลตอบแทน (search for yield) หรือใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็น Soft Value ของสินทรัพย์ตัวเอง

“คริปโทฯ พวกนี้จะมีความเคลื่อนไหวของราคาสวนทางกับสินทรัพย์ดั้งเดิม อาทิ หุ้น, ตราสารหนี้ เพราะฉะนั้นเป็นตัวกระจายพอร์ตการลงทุนที่ดีมาก”

โทเคนดิจิทัล มี 2 แบบ

สำหรับโทเคนดิจิทัล จะแบ่งออกเป็น Utility token กับ Investment Token ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดย Utility token จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ 1.Utility token พร้อมใช้ และ 2.Utility token ไม่พร้อมใช้

โดยสำหรับ Utility token พร้อมใช้ จะไม่เป็นการระดมทุน แต่เป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแสดงสิทธิ์ในสินค้าและบริการที่สร้างเสร็จแล้ว พูดง่ายๆ คล้ายๆ วอชเชอร์ (Voucher) โรงแรม ที่ซื้อกระดาษไปแลกเข้าพักโรงแรม แต่ส่วนนี้ใช้เป็นเหรียญโทเคนไปแลกสินค้าและบริการต่างๆ แทน

แต่สำหรับ Utility token ไม่พร้อมใช้ นั่นแปลว่าสินค้าและบริการยังสร้างไม่เสร็จ ผู้ขายเหรียญออกมาเพื่อระดมทุนเงินไปพัฒนาสินค้าและบริการ จึงเข้าข่ายอาการการระดมทุน

ส่วน Investment Token จะคล้ายๆ เป็นเครื่องมือระดมทุน ทำหน้าที่เหมือนไอพีโอ (IPO) ซึ่งช่วงต้นเดือน ต.ค. 2564 บริษัท เอสพีวี 77 จำกัด ออกโทเคนเพื่อระดมทุนซื้ออาคาร และปล่อยเช่าตัวอาคาร โดยนำค่าเช่ามาแบ่งเป็นผลตอบแทนให้นักลงทุน

คุณลักษณะสินทรัพย์ดิจิทัล “เทรด 24 ชั่วโมง 7 วัน”

นางสาวจอมขวัญ กล่าวต่อว่า คุณลักษณะของโปรดักต์สินทรัพย์ดิจิทัล จะซื้อขาย 24 ชั่วโมง 7 วัน ตลอดเวลาทั่วโลก ส่งมอบเรียลไทม์ ไม่เหมือนหุ้นต้องรอเปิดตลาด และกว่าจะส่งมอบใช้เวลา 1-2 วัน

นอกจากนี้ การจ่ายผลตอบแทนจะหลากหลายคือ จะจ่ายเป็นตัวเงิน หรือผลตอบแทนก็ได้ หรือเป็นสิทธิไปแลกสินค้าและบริการก็ได้ รูปแบบค่อนข้างมีความยืดหยุ่น

และโทเคนสามารถทำเป็นหน่วยย่อยได้ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้เงินลงทุนต่ำได้ ไม่เหมือนหุ้น เช่น ราคาหุ้น 400 บาท ต้องใช้เงิน 400 บาทถึงจะซื้อได้

ยอดเปิดบัญชีคริปโทฯ พุ่ง 5 เท่าใน 3 ปี

แน่นอนว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นกึ่งๆ โอกาสที่มาพร้อมกับความเสี่ยง แม้ว่าตอนนี้จะเห็นโอกาสดี ซึ่งทำให้คนมีความต้องการสินทรัพย์ประเภทนี้ค่อนข้างสูงมากทั่วโลก หลายๆ ประเทศ คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

ในประเทศไทยคนลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา จำนวนเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ตั้งแต่ปี 2561 ที่มี พ.ร.ก.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ถัดมาช่วงปี 2562 ยอดบัญชีกว่า 100,000 บัญชี ถัดมาช่วงปลายปี 2563 มีอยู่กว่า 200,000 บัญชี และล่าสุดปี 2564 ทะลุ 1,600,000 บัญชีไปแล้ว ซึ่งถ้าเทียบเปิดบัญชีหุ้น ตลอดระยะเวลา 20-30 ปี ยังมีจำนวนบัญชีแค่ 1,800,000 บัญชี จำนวนพัฒนาการต่างกันค่อนข้างมาก

เตือนความเสี่ยง ผันผวนสูง-วัดมูลค่าแท้จริงยาก

นางสาวจอมขวัญ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซีไม่มีใครทราบว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไร แต่คนที่ซื้อขายกันเพราะพอใจในสิ่งนั้น เห็นกระแสโลก และตลาดเปิด 24 ชั่วโมง เพดานราคาไม่มี (ราคาขึ้นอยู่กับดีมานด์-ซัพพลายจากทั่วโลก) ทำให้การขึ้นลงของราคาผันผวนสูงมาก ลงทุนไป 1-2 วัน เงินในพอร์ตอาจจะหายไปเลยก็ได้

และกระแสโลกในหลายประเทศมหาอำนาจ ออกมาคล้ายๆ กึ่งๆ แบนบิตคอยน์ เพราะกังวลว่าจะมีปัญหาต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันตัวราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ด้วย

ก.ล.ต.-ธปท.หารือคุมสินทรัพย์ดิจิทัล

ปัจจุบัน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล กำกับและพัฒนาทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล โดยในส่วนของคริปโทเคอร์เรนซีที่ใช้แลกสินค้าและบริการต่างๆ ไม่มีการระดมทุน มีแต่การซื้อขายตลาดรอง เวลาที่ ก.ล.ต.เข้าไปกำกับดูแล จะเข้าไปกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดรองคือ ควบคุมผู้ประกอบการ เช่น โบรกเกอร์, ดีลเลอร์, ฟันด์เมเนเจอร์, ที่ปรึกษาฯ ว่าได้ทำหน้าที่และมีความพร้อมระบบงานและบุคลากร เป็นไปตามมาตรฐานที่ ก.ล.ต.กำหนดหรือไม่

แต่ทั้งนี้ปัจจุบันจะมีโทเคนดิจิทัลบางประเภทที่คล้ายๆ การระดมทุน ซึ่งโดยปกติการระดมทุนจะกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยสิ่งที่ ก.ล.ต.กำลังดำเนินการอยู่คือ กำลังปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ให้ครอบคลุมกับการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนโลกดิจิทัลหรือโลกดั้งเดิม เพื่อให้เป็นการกำกับดูแลในแนวทางเดียวกัน

ขณะเดียวกันจากการที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ก.ล.ต. ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมมือวางแนวทางให้ชัดเจนเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

“บางคนจะนำคริปโทเคอร์เรนซีไปใช้กึ่งๆ สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน พูดง่ายๆ คนไม่ใช้เงินบาท แต่ใช้บิตคอยน์ไปซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งอาจส่งผลต่อนโยบายการเงินของภาครัฐอาจไม่มีประสิทธิภาพได้ เป็นเหตุให้แบงก์ชาติทั่วโลกมีข้อสังเกตในเรื่องนี้ จึงต้องร่วมมือหารือกันต่อไป”