ราคาทองคำเดือนพฤศจิกายน ลุ้นเฟดปรับลดวงเงิน QE

ทองคำ-เงินบาท-ทองแท่ง
คอลัมน์ สถานีลงทุน
ธนรัชต์ พสวงศ์
ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

เดือนตุลาคม ราคาทองคำ spot เคลื่อนไหวผันผวนลดน้อยลง หลังจากที่เคลื่อนไหวผันผวนมากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งราคาทองคำ spot เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ทั้งนี้ ราคาทองคำสามารถปรับขึ้นทะลุแนวต้านสำคัญ 1,800 ดอลลาร์ได้

ในช่วงปลายเดือน ทองคำมีปัจจัยหนุนจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าตลาดคาด ทำให้กังวลว่าจะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

โดยสหรัฐประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตลาดคาดจะเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบรายปี ถึงแม้ว่าดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบรายปี และต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงช่วยหนุนราคาทองคำ โดยจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐเติบโตเพียง 2.0% เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 1 ปี หลังจากที่ไตรมาส 2 เติบโต 6.7%

แนวโน้มราคาทองคำ spot เดือนพฤศจิกายน คาดเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1,720-1,830 ดอลลาร์ ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อราคาทองคำในเดือนพฤศจิกายน คือ การประชุมธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การประชุมธนาคารกลางยุโรป และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น

ประเด็นหลักที่สำคัญ คือ การประชุมเฟดในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน ต้องติดตามว่าเฟดจะประกาศปรับลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือไม่

สำหรับการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC ประจำเดือนกันยายนระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะเริ่มปรับลดวงเงินมาตรการ QE ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน หรือกลางเดือนธันวาคมปีนี้ และจะยุติมาตรการ QE ในช่วงกลางปีหน้า

ทำให้ราคาทองคำอาจได้รับผลกระทบทางลบ แต่คาดราคาทองคำคงซึมซับประเด็นดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว ยกเว้นว่าเฟดประกาศปรับลดวงเงินมาตรการ QE ในปริมาณที่มาก

สำหรับการประชุมธนาคารกลางยุโรปและการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น คาดว่ามีผลกระทบต่อราคาทองคำไม่มากเท่ากับการประชุมเฟด

ส่วนการจ้างงานของสหรัฐเดือนตุลาคมยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคาทองคำผันผวนได้ ในกรณีที่การจ้างงานออกมาแตกต่างจากที่ตลาดคาดไว้มาก

ส่วนประเด็นเงินบาทยังคงมีผลกระทบต่อราคาทองแท่งในประเทศอย่างมาก เนื่องจากความผันผวนของเงินบาท ซึ่งเงินบาทกลับทิศทางแข็งค่าขึ้นกระทบทางลบต่อราคาทองแท่งในประเทศ หลังจากวันที่ 11 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีได้แถลงที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยไม่ต้องกักตัว

ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเข้าใกล้ 33 บาท/ดอลลาร์ จากที่ก่อนหน้านี้อ่อนค่าแตะ 34 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหวในกรอบแคบลงระหว่าง 33-33.50 ดอลลาร์ในช่วงครึ่งเดือนหลัง

สำหรับเดือนพฤศจิกายน คาดเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.80-33.80 ดอลลาร์