กรมภาษีหวังเปิดประเทศ-ดื่มแอลกอฮอล์ หนุนเก็บรายได้ปี’65 เข้าเป้า

ภูเก็ต คลายล็อกเพิ่ม นั่งดื่มในร้านอาหาร-เล่นดนตรีสดได้ เริ่ม 1 ต.ค.
ภาพจาก pixabay

กรมภาษีชี้เปิดประเทศหนุนเก็บรายได้ “สรรพสามิต” หวังเก็บภาษีปีงบประมาณ 2565 เข้าเป้าที่ตั้งไว้เฉียด 6 แสนล้านบาท ยันยังไม่เก็บภาษีสินค้าใหม่ ๆ เน้นอุดรูรั่วเป็นหลัก ฟากกรมศุลฯดึงระบบไอทีหนุนเก็บภาษีเข้าเป้า 1 แสนล้านบาท ส่วนกรมสรรพากรปีนี้มีรายได้ภาษีอีเซอร์วิสเข้า 5 พันล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 64-ก.ย. 65) กรมได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณเกือบ 6 แสนล้านบาท ซึ่งการจัดเก็บรายได้สรรพสามิตขึ้นอยู่กับการบริโภคเป็นหลัก ดังนั้น หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไม่มีล็อกดาวน์อีก เชื่อว่ากรมจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนเรื่องโควิดอยู่ ซึ่งสิ่งที่กรมทำควบคู่ไปคือการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยจะพยายามปิดรูรั่วต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องภาษีน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักของกรมเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท ถือเป็น 1 ใน 3 ของรายได้จะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการติดตามเพื่อลดการรั่วไหล

“กรณีน้ำมันแพงกระทบในแง่การใช้น้ำมันที่ลดลง ซึ่งมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมเพราะประชาชนก็อาจจะใช้น้ำมันลดลงได้ อย่างไรก็ดี ถ้ามีการเข้าไปดูในเรื่องรูรั่วต่าง ๆ ก็เชื่อว่ารายได้จะกลับมาประมาณหนึ่งจะเห็นว่าช่วงนี้กรมมีการแถลงข่าวการจับน้ำมันเถื่อนเกือบทุกวันและขนาดใหญ่ ครั้งละประมาณ 1 ล้านลิตร ส่วนบุหรี่ก็มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง” นายลวรณกล่าว

นอกจากนี้ การเปิดประเทศและเริ่มมีการประกาศให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้ในบางจังหวัด ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อภาษีสรรพสามิต เนื่องจากช่วงล็อกดาวน์สถานบันเทิงที่ผ่านมามีผลต่อการขายเหล้าค่อนข้างมาก เพราะปกติคนจะซื้อนั่งดื่มที่ร้านอาหาร ส่วนเบียร์อาจจะไม่ค่อยมีผลกระทบมาก เพราะคนสามารถซื้อกลับไปดื่มที่บ้านได้

“สำหรับภาษีใหม่ ๆ ที่จะผลักดันออกมาจะยังไม่มีในช่วงนี้เพราะเราให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยการเก็บภาษีก็อาจจะดูผลกระทบ แต่ของใหม่เราก็ศึกษาไป หากช่วงเวลาไหนที่มีความเหมาะสมเราก็จะนำมาใช้ แต่คงไม่ใช้ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 กรมได้รับเป้าเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณราว 1 แสนล้านบาท โดยจะนำระบบไอทีมาใช้ทุกส่วนงาน ทั้งระบบงานเอกสารตั้งแต่การยื่นใบอนุญาตนำเข้าจะทำผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จนถึงขั้นตอนการคืนเงิน การขอใบอนุญาตต่าง ๆ ส่วนการควบคุมงานก็จะมีกล้อง CCTV และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการคัดกรอง กำกับควบคุม ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย

ส่วนการเปิดประเทศคงส่งผลให้บรรยากาศการค้าขายมีแรงกระตุ้นมากยิ่งขึ้น จะยิ่งทำให้บรรยากาศการค้าขายคืนสู่สภาพเดิมได้เร็ว อย่างไรก็ดี อาจจะมีปัจจัยที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการจัดเก็บรายได้ก็คือ ราคาน้ำมัน ที่ปรับขึ้นสูงมาก อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่ง

“การจัดเก็บรายได้ของกรมศุลฯส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่มีอัตราสูงอยู่ เช่น รถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือยบางอย่าง ซึ่งสินค้ารถยนต์ ที่ผ่านมาได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ดังนั้น ยังมั่นใจว่าทิศทางการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลฯในปีนี้จะดีขึ้นมากจากปีก่อน” นายพชรกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนกรมสรรพากรที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างมาก รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงที่รายได้ได้รับผลกระทบ จึงมีการลดหย่อน ผ่อนเกณฑ์ ยืดเวลาจ่ายภาษีหลายรายการ อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมจะมีรายได้จากภาษีอีเซอร์วิส (e-Service) เต็มปี ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินภาษีเข้ามาได้ 5,000 ล้านบาทต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) กระทรวงการคลังเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายรวม 643,998 ล้านบาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2563 เก็บรายได้ต่ำเป้าไป 336,924 ล้านบาท

และล่าสุดปีงบประมาณ 2564 พลาดเป้าอีก 307,074 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา 3 กรมภาษีเก็บรายได้ต่ำเป้ารวมกันถึง 314,807 ล้านบาท ได้แก่ กรมสรรพากรต่ำกว่าเป้า 210,008 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 102,394 ล้านบาท และกรมศุลกากร 2,405 ล้านบาท