แบงก์แปลงร่างเทคคอมปะนี เปิดศึกแย่งคนไอที-โละพนักงานรุ่นเก่า

ดาต้า
Photo by fauxels

แบงก์เปลี่ยนเกมธุรกิจแปลงร่างเป็น “เทคคอมปะนี” เปิดศึกแย่งตัวคนรุ่นใหม่สายพันธุ์เทค SCBX เปิดรับทีมเทคโนโลยีและดาต้าเอ็นจิเนียร์กว่า 500 อัตรา รับแผนธุรกิจบริษัทใหม่ ชูค่าตอบแทนเร้าใจ-ทำงานแบบ work from anywhere “KBTG” ระดมหาคนเสริมทีม 700-1,000 คน “กรุงศรี ฟินโนเวต” ชี้ทิศทางแบงก์ต้องเปลี่ยนถ่ายพนักงานเป็น “คนเทค” อย่างน้อย 50% รองรับโลกการเงินดิจิทัล ตลาดในประเทศขาดแคลนหนักมาก ต้องยอมทุ่มดึงต่างชาติเสริมทัพ ขณะที่แบงก์เปิดเออร์ลี่รีไทร์ถ่ายเลือดคนรุ่นเก่า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากธุรกิจธนาคารถูกกระแสดิจิทัลดิสรัปต์อย่างรุนแรง การเข้ามาของฟินเทค (financial technology) ที่สร้างการแข่งขันที่ปรับเปลี่ยนเร็ว และต้นทุนต่ำกว่าของผู้เล่นหน้าใหม่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวพัฒนาบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล

พร้อมกับการออกนอกกรอบการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแบบเดิม เช่น ที่ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประกาศตั้ง SCBX เป็นบริษัทแม่ พร้อมกับเป้าหมายก้าวสู่การเป็น “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค” หรือเป็นเทคคอมปะนีภายใน 5 ปี

รวมถึงธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ทุกแห่งก็อยู่ในช่วงดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสู่โลกการเงินดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

SCB รับสายเทค 500 อัตรา

นางพัตราภรณ์ สิโรดม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้ธนาคารมีการรับบุคลากรด้านเทคโนโลยีและดาต้า มากกว่า 500 อัตรา ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนบุคลากรใหม่ที่ต้องการต่อปี โดยแนวโน้มความต้องการบุคลากรในด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในธนาคารและบริษัทในเครือที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นใหม่

สำหรับตำแหน่งที่ธนาคารมีความต้องการต่อเนื่อง ได้แก่ data engineer, data scientist, software engineer, quality assurance, developer, business analyst เป็นต้น เพื่อเข้ามาพัฒนาระบบใหม่ รองรับความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัล

ชูค่าตอบแทน-รูปแบบทำงานใหม่

ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทในกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์สามารถแข่งขันได้กับธุรกิจประเภทใกล้เคียงกันในตลาด จึงกำหนดให้บริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มสามารถกำหนดแนวทางบริหาร รวมถึงแผนค่าตอบแทนและสวัสดิการได้เอง ถือเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจธนาคารและบริษัทใหม่ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น เพื่อการบริหารและพัฒนาพนักงานที่มีศักยภาพให้มีโอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพและมีการทำแผนสืบทอดตำแหน่ง (succession planning) อย่างเป็นระบบ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการพัฒนาทักษะความรู้ใหม่ ๆ ให้กับบุคลากรเพื่อทดแทนทักษะที่อาจจะมีความต้องการลดลงในอนาคต

“การสรรหาคนในตลาดมีความท้าทายมากขึ้นกว่าอดีต โดยธนาคารมีวิธีจูงใจจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิสัยทัศน์ของธนาคารที่ต้องการเป็น the most admired bank โดยเริ่มจากมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และวัฒนธรรมองค์กรและรูปแบบการทำงานแบบ work from anywhere ที่ให้พนักงานกว่า 70% ทำงานที่ไหนก็ได้ และมีค่านิยมที่เน้นด้านเทคโนโลยี ความรวดเร็ว การสร้างนวัตกรรม และบริหารความเสี่ยง ท้ายที่สุดค่าตอบแทนที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด ไม่เฉพาะกับกลุ่มธนาคารเอง แต่ยังมีการเปรียบเทียบกับบริษัทเทคโนโลยี เพื่อให้ดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์จากหลายธุรกิจ” นางพัตราภรณ์กล่าว

KBTG รับเพิ่มอีก 1,000 คน

ขณะที่นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้บริษัทต้องการคนด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายในทุก ๆ ด้าน โดยคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 700-1,000 คน เพื่อตอบโจทย์ในการขยายธุรกิจของบริษัท และธนาคารกสิกรไทย

“แรงจูงใจเรื่องของผลตอบแทนนั้นมองว่า บริษัทจ่ายอัตราที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ รวมถึงมีการจูงใจด้วยเนื้องาน และวัฒนธรรมองค์ที่ให้ความสำคัญกับพนักงาน ทุกคนเป็นคน KBTG เท่า ๆ กันแบบ OneKBTG ตลอดจนการให้โอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดดในหน้าที่การงาน และพร้อมก้าวไปสู่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในระดับภูมิภาค” นายเรืองโรจน์กล่าว

แบงก์ทรานส์ฟอร์มต้องเปลี่ยนคน

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บนเส้นทางดิจิทัลทรานส์ฟอร์มของสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งไปสู่บริษัทเทคโนโลยี หรือเทคคอมปะนี เพื่อปรับเปลี่ยนบริการสู่ดิจิทัล ลดต้นทุน และเน้นบริการตัวเองมากขึ้น ทิศทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปของสถาบันการเงินทำให้เกิดภาพการแข่งขันการดึงบุคลากรทางสายไอทีและสายพัฒนาซอฟต์แวร์ รุนแรงมากขึ้นผ่านการเสนอผลตอบแทนที่สูง เพื่อแสวงหาบุคลากรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

หากองค์กรต้องการก้าวไปสู่เทคคอมปะนีจะต้องมีบุคลากรด้านไอที-สายพัฒนาเฉลี่ย 50% หรืออย่างน้อย 20-30% เนื่องจากในอนาคตทุกอย่างจะอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือเหมือน Neo Bank คือเป็นธนาคารที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลและมือถือ โดยลูกค้ามากกว่า 50% จะทำธุรกรรมบนออนไลน์ และลูกค้าใหม่จะมาจากช่องทางออนไลน์ 50% ทำให้องค์กรจำเป็นต้องหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาโปรเจ็กต์ต่าง ๆ โดยคาดว่าสถาบันการเงินไทยจะมีนักพัฒนาไปสู่ระดับ 50% น่าจะต้องใช้เวลาอีก 5 ปี จากปัจจุบันแต่ละองค์กรมีบุคลากรด้านนี้เฉลี่ยเพียง 10-15%

ขาดหนักต้องการปีละแสนคน

ผู้บริหารกรุงศรี ฟินโนเวต กล่าวว่า หากดูบุคลากรด้านเทคโนโลยีในไทยพบว่า คนที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับความต้องการในตลาด โดยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พบว่า ทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นคน และผลิตใหม่เฉลี่ยปีละ 1,000-2,000 คน แต่ความต้องการในตลาดสูงถึง 1 แสนคน สะท้อนไปถึงการแข่งขันดึงตัวรุนแรงต่อเนื่อง โดยองค์กรขนาดใหญ่จะเสนอผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้บริษัทเทคสตาร์ตอัพขนาดเล็กอยู่ไม่ได้

โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มมองหาการหาบุคลากรด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศ หรือไปร่วมมือเป็นพาร์ตเนอร์มากขึ้น เช่น ไทยพาณิชย์ หาพันธมิตรต่างประเทศ, KBTG เฟ้นหาในประเทศจีน ส่วนกรุงศรีอยุธยามีแผนหาในเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบัน กรุงศรี ฟินโนเวต มีบุคลากรด้านไอทีที่ทำงานให้กับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ประมาณ 100 คน และหากดูภาพทั้งธนาคารน่าจะมีประมาณ 1,000 คน ซึ่งคงไม่เพียงพอกับการขยายไปสู่ดิจิทัลแบงก์

“ภาพแบงก์ไทยตอนนี้ยังแย่งคนในประเทศอยู่ เพื่อแก้ปัญหาคนขาดแคลนโดยการทุ่มเงินดึงตัว แต่ระยะกลาง-ยาวจะต้องออกไปหาคนนอกประเทศ เพราะตอนนี้คนส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานแบบแบงก์อีกแล้ว เห็นจากอัตราการลาออกจะสูงกว่าสายงานอื่น เดิมเฉลี่ยทำงาน 3-4 ปี ปัจจุบันเหลือ 2 ปี และย้ายออกไปเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ถือเป็นอาชีพที่ฮอตในยามนี้” นายแซมกล่าว

Bitkub หาทีมเพิ่ม 350 คน

ขณะที่นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (Bitkub) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศรับสมัครพนักงานเพิ่ม ภายหลังการประกาศเข้าลงทุนใน Bitkub ของทางไทยพาณิชย์ว่า “หาคนเก่ง ๆ อีก 350 คน มาพัฒนาวงการ blockchain ร่วมกันครับ” พร้อมระบุว่า หากใครอยากจะช่วยพัฒนาประเทศไทยไปข้างหน้าให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยี ให้สมัครเข้ามาร่วมกัน

แบงก์เออร์ลี่ฯโละคนรุ่นเก่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งประกาศโครงการขยายสิทธิ์เกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นการเฉพาะคราว สำหรับพนักงานที่มีอายุ 50-55 ปี และมีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ให้สามารถขอเกษียณอายุได้จากเดิมที่ธนาคารให้สิทธิกับพนักงานที่มีอายุ 55-60 ปี โดยปัจจุบันธนาคารมีจำนวนคนที่อายุ 50-55 ปี และอายุงาน 20 ปี มีประมาณ 1,545 คน

โดยผู้ที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินค่าชดเชยเกษียณอายุเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมค่าครองชีพ คูณด้วยจำนวนปีของอายุงาน และมีสิทธิ์ได้รับเงินโบนัสประจำปี 2564 ด้วย ทั้งนี้ ธนาคารจะเปิดให้พนักงานที่สนใจยื่นความจำนง ระหว่างวันที่ 8-30 พ.ย. 2564 และจะมีผลพ้นจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565

ขณะที่เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีการเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ “จากด้วยใจ” ครั้งที่ 2 ของปี โดยเปิดให้พนักงานที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สมัครใจลาออก ได้รับเงินชดเชยสูงสุด 33.3 เดือน

ค่าจ้างคน IT เริ่มต้น 3.5 หมื่น

ด้านนายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ค่าตอบแทนของพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) รวมถึงศาสตร์ที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล หรือ data analytic ในปัจจุบันถือว่ามีอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยค่าตอบแทนจะสูงขึ้นตามประสบการณ์ของพนักงาน

ในกรณีอายุงาน 0-2 ปี ส่วนใหญ่เป็นไอทีทั่วไป อัตราปกติที่ 15,000-35,000 บาทต่อเดือน กรณีมีประสบการณ์ 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ประมาณ 60,000-120,000 บาทต่อเดือน กรณีประสบการณ์ 15 ปี เป็นต้นไป จะอยู่ที่ 120,000-250,000 บาทต่อเดือน ส่วนระดับหัวหน้างานอายุงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป อยู่ที่ประมาณ 650,000-800,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ในหลายองค์กรได้มีการแบ่งงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก สำหรับกลุ่มไอที สำหรับยุคเดิม เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ซ่อมเครื่อง จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ และกลุ่มที่สอง คือ พนักงานที่ได้เพิ่มทักษะการทำงานที่เดิมอาจจะเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง มาสู่ทักษะด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รวมถึงงานการประเมินผลผ่านระบบคลาวด์ รวมไปถึงวิศวกรซอฟต์แวร์ (software engineer) และสำหรับอายุงานไม่เกิน 8-10 ปี ค่าตอบแทนอยู่ที่ 60,000-190,000 บาทต่อเดือน

“อัตราเงินเดือนในกลุ่มนี้จะกว้างมาก ขึ้นอยู่กับว่าความต้องการของแต่ละองค์กร เพราะภายในประเทศยังมีข้อจำกัด คือ สถาบันการศึกษายังไม่สามารถผลิตคนทำงานด้านนี้โดยตรง จึงเกิดเทรนด์แย่งชิงคนเก่งด้านเทคโนโลยี และบางองค์กรได้จ้างพนักงานต่างชาติเข้ามาเสริมทีมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”

นายอภิวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับทิศทางของธุรกิจงานด้านการบริหารงานบุคคล (HR) หากพูดถึงในแวดวง HR ทั่วไป อาจจะไม่ได้มีการขยับของธุรกิจมากนัก แต่หากเป็นงาน HR ที่เกี่ยวข้องกับด้านการปรับเปลี่ยนคนทำงาน หรือ “people transformation” อาจจะเป็น “ปีทอง” เนื่องจากหลากหลายองค์กรมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของภาคธุรกิจ อีกทั้งการเปลี่ยน “วิธีการ” ทำงานมากกว่า เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้องค์กรไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใดก็ตาม