สรรพากรหวังโกยภาษี e-Service ปีแรก 1 หมื่นล้าน หลังเดือนแรกเก็บได้ทะลุเป้า

สรรพากร

สรรพากรเผยจัดเก็บภาษี e-Service แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศเดือนแรกทะลุเป้า ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 686 ล้านบาท หวังทั้งปีโกยภาษีแตะ 1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเดิมที่เคยคาดว่าจะจัดเก็บได้ 5 พันล้านบาท

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ตามที่กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยนั้น เพียงเดือนแรกมีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนแล้วจำนวน 106 ราย และมียอดค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 9,800 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในเดือนแรกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 686 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 65”

กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (VAT for Electronic Service : VES) ซึ่งมีผลบังคับกับแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการที่เป็นต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย

ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) บริการขายสินค้าออนไลน์ (e-Commerce) บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม (Subscription) บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง เช่น บริการขนส่ง (Peer to Peer) และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง (Online Travel Agency) ที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในประเทศไทย (ดูตาราง)

ทั้งนี้ กฎหมายภาษี e-Service นี้ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

โดยภาษี e-Service นี้ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากภาษีนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษี e-Service ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ การเก็บภาษี e-Service จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย

“การจัดเก็บภาษี e-Service จากผู้ประกอบการต่างประเทศหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ใช้บริการในประเทศไทย ที่เก็บรายได้ทะลุเป้าในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของการชำระภาษี ทำให้คาดว่าทั้งปีกรมสรรพากรน่าจะสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท การเก็บภาษี e-Service นี้

นอกจากเป็นการช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ด้วยการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศอีกด้วย” ดร.เอกนิติกล่าว