ไทยเที่ยวไทย…อีกสักปีดีไหม ?

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์
[email protected]

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตัดสินใจดำเนินมาตรการเปิดประเทศเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ไล่เลี่ยกันก็ลดจำนวนจังหวัดสีแดงเข้มจาก 29 จังหวัด เหลือเพียง 6 จังหวัด

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไปมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับจำนวนคนที่รับการฉีดวัคซีนก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564

ทั้งประเทศมีผู้ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 45.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 68.6 ของประชากร ส่วน 2 เข็ม 36.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.7 ของประชากร

และหากดูอัตราการได้รับวัคซีนครบแล้ว 10 จังหวัดแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 96.6 ภูเก็ต ร้อยละ 80.5 ชลบุรี ร้อยละ 75.7 สมุทรสาคร ร้อยละ 68.6 ปทุมธานี ร้อยละ 65.8 สมุทรปราการ ร้อยละ 63.4 พังงา ร้อยละ 62.7 ฉะเชิงเทรา ร้อยละ 61.1 ระนอง ร้อยละ 59.4 และพระนครศรีอยุธยา ร้อยละ 56.1

ส่วนจังหวัดที่เหลือก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะขยับเข้าไปใกล้ร้อยละ 70 ในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม หลายจังหวัดยังมีอัตราการได้รับวัคซีนในระดับต่ำมาก เช่น แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 30.9 บึงกาฬ ร้อยละ 30.9 หนองบัวลำภู ร้อยละ 31.0 เป็นต้น

จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ของหลาย ๆ หน่วยงาน มองคล้าย ๆ กันว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ช้าหรือเร็ว ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมาก คือ จำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก

โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาประมาณ 2-3 แสนคน ส่วนปีหน้าประมาณ 6-8 ล้านคน ซึ่งยังห่างไกลจากก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามามากถึง 40 ล้านคน คำถามที่เกิดขึ้นคือ เมื่อไหร่จะเท่าเดิม ? ผมก็ตอบไม่ถูก

แต่ส่วนตัวคิดว่าในระยะ 4-5 ปีนี้ คงยากพอสมควร ฉะนั้น การหันกลับมาพึ่งพา “ไทยเที่ยวไทย” ให้มากขึ้น การส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ สนับสนุน MSMEs ด้านการท่องเที่ยว สนับสนุนการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น เป๋าตัง ถุงเงิน เป็นต้น จะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว การบริโภคก็ดีด้วย ผู้ประกอบการก็อยู่ได้ เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวอย่างทั่วถึง (inclusive growth) มากขึ้น

ผมจะพาย้อนไปดูข้อมูลเศรษฐกิจ 3 ตัวของปี 2562 เพื่อจะได้เห็นโครงสร้างเศรษฐกิจก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ตัวที่ 1 โครงสร้างเศรษฐกิจด้านอุปทานสาขาท่องเที่ยว ในปี 2562 พบว่า ร้อยละ 85 ของการท่องเที่ยวทั้งประเทศ กองรวมกันอยู่ใน 10 จังหวัดเท่านั้น

ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี พังงา เชียงใหม่ กระบี่ ระยอง และสงขลา ข้อมูลนี้ทำให้เราจะเห็นภาพการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวชัดมากขึ้น

ตัวที่ 2 จำนวนผู้เยี่ยมเยือน ทั้งหมด 304 ล้านคนครั้ง ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 227 ล้านคนครั้ง เป็นคนต่างประเทศ 77 ล้านคนครั้ง สัดส่วนไทย : เทศ จึงอยู่ที่ 75% : 25%

แปลว่า “ในแง่จำนวนคน” เศรษฐกิจไทยพึ่งพาผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยมากกว่าชาวต่างประเทศ สัดส่วนนี้ในแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน

ตัวที่ 3 รายได้จากการเยี่ยมเยือน ทั้งประเทศมีรายได้จากการเยี่ยมเยือนมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท เป็นรายได้ที่มาจากคนไทย 1.1 ล้านล้านบาท มาจากคนต่างประเทศ 1.7 ล้านล้านบาท สัดส่วนไทย : เทศ จะอยู่ที่ 39% : 61%

แปลว่า “ในแง่รายได้” เศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากคนต่างประเทศมากกว่าคนไทย สัดส่วนนี้ในแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน

จากข้อมูลพบว่า จังหวัดที่พึ่งพาเม็ดเงินจากชาวต่างประเทศมากกว่าเม็ดเงินของคนไทย 10 จังหวัดแรก ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา และพังงา

ฉะนั้น จังหวัดเหล่านี้ยิ่งต้องการเม็ดเงินจากไทยเที่ยวไทยเข้าไปทดแทน ยกตัวอย่างเช่น จ.ภูเก็ต จากข้อมูลจำนวนและรายได้ จะพบว่า การใช้จ่ายต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 13,400 บาท

ส่วนของคนต่างประเทศอยู่ที่ 39,400 บาท ต่างกัน 3 เท่า ดังนั้น หากเราจะรักษาระดับรายได้จากการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ตให้เท่าเดิม ต้องให้คนไทยเดินทางไปเที่ยวภูเก็ตเพิ่มจากเดิมอีก 3 คน จึงจะทดแทนคนต่างประเทศ 1 คน

หรือเรียกว่า “อัตราการทดแทนกันของการใช้จ่ายต่อหัว” อยู่ที่ ไทย 3 คน : เทศ 1 คน เป็นต้น ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 3 : 1 จ.ชลบุรี อัตราส่วนนี้อยู่ที่ 3.4 : 1 (สูงที่สุดในประเทศไทย) จ.กระบี่ อยู่ที่ 1 : 1 จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ที่ 2.9 : 1 จ.สงขลา อยู่ที่ 1.6 : 1 และ จ.พังงา อยู่ที่ 3.0 : 1

ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2564 และตลอดปี 2565 หากเราควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ฉีดวัคซีนให้ครบทุกช่วงวัย เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างระมัดระวัง แล้วทยอยออกมาตรการสนับสนุนไทยเที่ยวไทยเพิ่มเติม

เพื่อชักชวนจูงใจให้คนออกไปเที่ยวมากขึ้น ยิ่งไปเที่ยวกันมากเท่าไร ยิ่งทดแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้มากเท่านั้น ที่สำคัญนอกจากจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศแล้ว

ยังทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านบริการต่าง ๆ MSMEs เล็ก ๆ จิ๋ว ๆ ในต่างจังหวัด จะสามารถอยู่รอดได้


ผมจึงเสนอให้ปี 2565 เป็น “ปีไทยเที่ยวไทย” ครับ